Mitr Phol Group Sustainability

Edit Template

ผู้มีส่วนได้เสีย : ผู้ถือหุ้น เกษตรกร ลูกค้าและผู้บริโภค ภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคม

มิตรผลตระหนักดีถึงบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนและสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจ ตลอดจนมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทมียุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) สอดรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดผลกระทบของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของนานาประเทศ ผ่านแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืนอย่างครอบคลุมในทุกองค์ประกอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ สามารถนำความรู้และเครื่องมือไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง

เส้นทางเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Pathway)

พ.ศ. 2565 (ปีฐาน)
พ.ศ. 2573
พ.ศ. 2593
เป้าหมาย
จัดทำฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 2 และ 3
ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจาก
  • ขอบเขตที่ 1 และ 2 ลดลงร้อยละ 42 จากปีฐาน
  • ขอบเขตที่ 3 ลดลงร้อยละ 25 จากปีฐาน
  • ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากขอบเขตที่ 1 2 และ 3 ลงร้อยละ 90 จากปีฐาน

    แนวทางการบริหารจัดการ

    มิตรผลมีการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อตอบสนองทิศทางและเป้าหมายที่คณะกรรมการกำหนด ดังนี้

    การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร

    ในปี พ.ศ.2566 บริษัทประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของกลุ่ม ในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ. 2030) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ.2593 ซึ่งประกอบด้วยการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) (ค.ศ. 2050) ครอบคลุมขอบเขตที่ 1 2 และ 3 ของทั้ง 7 กลุ่มธุรกิจ และการทวนสอบข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก โดยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของปี พ.ศ.2566 แยกตามขอบเขต ดังนี้

    การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขอบเขตที่ 3 ประเภทที่ 2 สินค้าประเภททุน ไม่สามารถหาค่า emission factor จากผู้ขายได้ จึงไม่สามารถคำนวณได้

    การพัฒนาแพลตฟอร์มจัดเก็บและคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

    ด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืนร่วมกับด้าน Digital Transformation ได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทในเครือ และระบบประเมินปริมาณการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้หน่วยงานในธุรกิจต่างๆ ได้มีเครื่องมือไปใช้ในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร และนำผลที่ได้ไปหาวิธีลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการจัดเก็บข้อมูลและประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ เป็นไปตามข้อกำหนดในการคำนวณและรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรที่กำหนดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล GHG Protocol และขยายขอบเขตสู่การจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาค Forest, Land and Agriculture Guidance หรือ FLAG อีกด้วย

    ทั้งนี้บริษัทมีแผนพัฒนาให้ฐานข้อมูลของแต่ละบริษัทอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน กล่าวคือ การผนวกรวมบัญชีรายการระหว่างกันของบริษัทในเครือ เข้ากับการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของมิตรผล เช่น การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างธุรกิจน้ำตาลและธุรกิจโรงไฟฟ้า เป็นต้น

    การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร

    ด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืนจัดทำหลักสูตรการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้องในธุรกิจไร่ น้ำตาล พลังงาน ปุ๋ย วัสดุทดแทนไม้ และธุรกิจอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจหลักการคำนวณคร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร สามารถเก็บข้อมูลและประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ เพื่อรองรับทิศทางการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ขององค์กร ซึ่งเนื้อหาการอบรมครอบคลุมวิธีการเก็บข้อมูลและระบุแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และฝึกปฏิบัติการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกขององค์กร

    เปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ตามข้อเสนอแนะของกรอบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) มิตรผลจัดทำรายงานตามข้อเสนอแนะของกรอบของ TCFD ที่ช่วยให้บริษัทสามารถวิเคราะห์ธุรกิจและจัดทำกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ สามารถจัดการความเสี่ยงที่สำคัญและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงให้ผู้มีส่วนได้เสียมีข้อมูลที่สำคัญในการตัดสินใจในการลงทุนและทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งให้ความมั่นใจได้ว่า บริษัทได้คำนึงถึงและจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศอย่างรอบคอบ

    การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการคาร์บอนต่ำ

    ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

    คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

    ฉลากที่แสดงว่าตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ ตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบกระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน

    ได้รับการรับรองจำนวน
38 ผลิตภัณฑ์
    ในกลุ่มน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลอ้อยธรรมชาติ น้ำเชื่อม น้ำเชื่อมอินเวอร์สวีท น้ำเชื่อมซูโครสสวีท น้ำตาลกรวด น้ำตาลกรวดผลึกใส และน้ำตาลเคลือบคาราเมล

    ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์

    ฉลากที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

    ได้รับการรับรองจำนวน 
8 ผลิตภัณฑ์
    ในกลุ่มน้ำตาลทรายขาว 
น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 
น้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลอ้อยธรรมชาติ

    โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย

    เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้องค์กรมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตไปซื้อขายได้ โดยมิตรผลได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน

    ได้รับการรับรอง จำนวน 9 โครงการ ในประเภทพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลและได้คาร์บอนเครดิต จำนวนประมาณ 900,000 tCO2e/ปี

    ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน

    ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยได้รับการรับรองจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

    ได้รับการรับรอง RECs จำนวนประมาณ 1.3 ล้าน RECs /ปี

    ปุ๋ยสูตรพิเศษ ควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหาร

    ธาตุไนโตรเจนเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นกับการเจริญเติบโตของอ้อย ทำให้อ้อยต้องการไนโตรเจนในปริมาณที่สูงมาก แต่ธาตุอาหารไนโตรเจนในดินมักมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของอ้อย ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหรือปุ๋ยยูเรียเพิ่ม ซึ่งโดยปกติมักจะถูกสภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูกชะล้างออกไปก่อนที่พืชจะดึงมาใช้ได้หมด ทำให้พืชผลไม่สามารถดูดซึมธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมีมาใช้ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังส่งผลให้ไนโตรเจนที่ถูกชะล้างออกไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกอ้อยเพื่อลดการสูญเสียดังกล่าวศูนย์นวัตกรรมและวิจัยมิตรผลจึงได้คิดค้นเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อย หรือ Controlled Release Fertilizer (CRF) โดยเม็ดปุ๋ยจะค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุไนโตรเจนตามความต้องการของพืช ทำให้อ้อยได้รับธาตุอาหารตลอดระยะเวลาการปลูกอ้อย 270 วัน (9 เดือน) และการให้ปุ๋ย CRF เพียงแค่ครั้งเดียว (50 กิโลกรัม) สามารถเทียบเท่ากับการใส่ปุ๋ยปกติได้ถึง 2 กระสอบ (100 กิโลกรัม) เทคโนโลยีดังกล่าวจึงช่วยลดปัญหาการเติมปุ๋ยเคมีเกินความจำเป็น ลดปัญหาไนโตรเจนถูกชะล้างและลดสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

    เอทานอลเพื่อความยั่งยืนด้วยมาตรฐานระดับโลก Bonsucro EU-RED

    มิตรผลต่อยอดมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืนระดับโลก Bonsucro ด้วยการยกระดับการผลิตเอทานอลที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ โรงงานเอทานอล ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ จนได้รับการรับรองเป็นผู้ผลิตเอทานอลเพื่อความยั่งยืนด้วยมาตรฐานระดับโลก Bonsucro EU-RED เป็นรายแรกของประเทศไทย และขยายผลความสำเร็จไปยังโรงงานอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่ โรงงานเอทานอล กุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และโรงงานเอทานอล ด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามิตรผลให้ความสำคัญกับการผลิตเอทานอลคุณภาพตั้งแต่การบริหารจัดการไร่อ้อย กระบวนการผลิตในโรงงาน การจ้างแรงงาน ระบบโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาวะโลกร้อนเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเอทานอลที่มีมาตรฐานความยั่งยืนเป็นวัตถุดิบทางเลือกที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดและเป็นกุญแจสำคัญในการนำมาต่อยอดในอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ อุตสาหกรรม Bio-PE หรือพลาสติกชีวภาพ และธุรกิจเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) ที่มีแนวโน้มความต้องการจากทั่วโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจให้แก่ภาคเกษตรอุตสาหกรรมของประเทศและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทยให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น

    PlaneX - CaneX บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    มิตรผลดำเนินธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ ที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร หรือวัตถุดิบธรรมชาติ (Biobased) สำหรับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร แบบ Injection และ Thermoforming ภายใต้แบรนด์ PlaneX ผลิตจากแป้งมันสำปะหลังและพลาสติกชีวภาพจากน้ำตาล จึงสามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพและบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Compostable Food Packaging) เช่น ช้อน ส้อม มีด จากแป้งมันสำปะหลัง และหลอดจากชานอ้อย ภายใต้แบรนด์ CaneX

    PlaneX ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ
    CaneX บรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถย่อยสลายด้วยวิธีทางชีวภาพ

    ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าในธุรกิจรขนส่งโลจิสติกส์และซัพพลาย

    บริษัท แฟร์ แอนด์ ฟาสต์ จำกัด หนึ่งในธุรกิจที่ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายของมิตรผล วางเป้าหมายเพิ่มจำนวนรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยในปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทดสอบรถบรรทุกหัวลากขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิง สำหรับการใช้ขนถ่ายน้ำตาลกระสอบภายในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี รวมทั้งทดสอบประสิทธิภาพการทำงานและสมรรถนะของรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด โดยได้รับความร่วมมือกับบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชั่นพลังงานสะอาดชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และบริษัท ไทยอีวี จำกัด ผู้นำเข้า จัดจำหน่าย และบำรุงรักษารถพลังงานไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์รายใหญ่ ในการนำรถหัวลากพลังงานไฟฟ้าที่วิ่งได้ระยะทางสูงสุดถึง 350+ กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เข้าร่วมการทดสอบในครั้งนี้ โดยการทดลองด้วยรถบรรทุกหัวลากนี้เป็นการเริ่มต้นจากรถขนส่งขนาดใหญ่ในการขนส่งระยะสั้น และจะขยายไปยังรถขนส่งทุกขนาด รวมทั้งการขนส่งระยะไกลขึ้นอย่างการข้ามจังหวัดและข้ามภูมิภาคต่อไป

    ผลิตภัณฑ์วัสดุทดแทนไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    ผลิตภัณฑ์วัสดุทดแทนไม้ที่ใช้ไม้ยางพาราที่หมดอายุการให้น้ำยางได้แล้วมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุทดแทนไม้ โดยต้นยางพาราที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ ได้รับการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนภายใต้มาตรฐานสากล Forest Stewardship Council (FSC) ที่ช่วยควบคุมทุกกระบวนการตั้งแต่การปลูกต้นยางพารา กระบวนการผลิต ตลอดจนการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า โดยขั้นตอนการปลูกต้นยางพาราจะปลูกในพื้นที่ป่าควบคุมสำหรับใช้เชิงพาณิชย์เท่านั้น ทำให้มั่นใจว่าได้ว่า กระบวนการผลิตวัสดุทดแทนไม้ดังกล่าวไม่เป็นการตัดไม้ทำลายป่าตามธรรมชาติหรือทำลายระบบนิเวศน์ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มไม้เคลือบเมลามีนยังได้รับการรับรอง Singapore Green Label ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าเป็นสินค้าที่มีองค์ประกอบ กระบวนการผลิต การใช้ ตลอดจนถึงการทิ้งทำลายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ไม่ได้รับการรับรอง อีกทั้งยังได้รับการรับรอง Greenguard Gold Certified ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับรองการปล่อยสารเคมีในระดับต่ำ สำหรับวัสดุก่อสร้างอาคาร และ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการประเมินอาคารเขียว หรือ LEED Certification อีกด้วย

    เอกสารที่เกี่ยวข้อง