Mitr Phol Group Sustainability

Edit Template

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก : ผู้ถือหุ้น/ ลูกค้าและผู้บริโภค/ ภาครัฐและภาคประชาสังคม

มิตรผลตระหนักเป็นอย่างดีถึงความสำคัญของการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้อุดมสมบูรณ์ เพราะจะช่วยส่งเสริมการส่งมอบบริการจากระบบนิเวศ (Ecosystem Services) ให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์มากขึ้น กล่าวคือ จะช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำที่เพียงพอ และช่วยบรรเทาความรุนแรงของภัยธรรมชาติ อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของมิตรผลตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อม

บริษัทจึงมีการบริหารจัดการเชิงรุกอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดความมุ่งมั่นที่จะไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (No Net Loss: NNL) ส่งเสริมการดำเนินโครงการใหม่ เพื่อส่งมอบผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิเชิงบวก (Net Positive Impact: NPI) และดำเนินธุรกิจโดยปราศจากผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้สุทธิ (No Net Deforestation)* อีกทั้งยังได้ประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และกำหนดมาตรการป้องกัน หลีกเลี่ยงและลดผลกระทบให้เหมาะสมอีกด้วย

เป้าหมายและผลการดำเนินงานของปี 2566

เป้าหมาย
ผลการดำเนินงาน
การสูญเสียคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (Biodiversity Loss) ภายใต้ขอบเขตที่บริษัทดำเนินการ
ไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (No Net Loss: NNL) ภายใต้ขอบเขตที่บริษัทดำเนินการได้ ภายในปี พ.ศ.2573
ไม่เกิดความสูญเสียคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (No Net Loss: NNL) ภายใต้ขอบเขตที่บริษัทดำเนินการ
สัดส่วนพื้นที่สีเขียวภายในโรงงาน
ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของพื้นที่โรงงาน
ร้อยละ 14 ของพื้นที่โรงงาน

แนวทางการบริหารจัดการ

การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

มิตรผลได้นำแนวทางการประเมินความเสี่ยงทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลมาปรับใช้ เพื่อค้นหาและประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของมิตรผลครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าของมิตรผล เพื่อให้บริษัทสามารถระบุอุตสาหกรรมและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและกำหนดมาตรการรองรับความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม

การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

การประยุกต์ใช้หลักการบรรเทาผลกระทบตามลำดับขั้น
(Mitigation Hierarchy Principle)

หลีกเลี่ยง (Avoid)

การออกแบบและบริหารการจัดการพื้นที่โรงงานและพื้นที่ปฏิบัติการ ให้มีกระบวนการดำเนินอย่างมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการออกนโยบายความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ที่ระบุถึงการกำกับและควบคุมการดำเนินธุรกิจเพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

ลดผลกระทบ (Reduce)

พัฒนาการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจบนแนวคิดการจัดการแบบ “เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่าให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า หรือ From Waste to Value Creation” ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของเหลือทิ้ง ด้วยการนำส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรม พลังงานทดแทน และธุรกิจอื่นๆ อาทิ การนำชานอ้อย (Bagasse) มาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าชีวมวล และผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในกลุ่มธุรกิจและจำหน่ายสู่ภายนอก การนำกากน้ำตาล (Molasses) มาหมักกับยีสต์เพื่อผลิตเป็นเอทานอล การนำน้ำกากส่า (Vinasse) ที่เป็นของเสียจากกระบวนการผลิตเอทานอลมาพัฒนาร่วมกับกากหม้อกรอง (Filter Cake) ที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาล มาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเพื่อนำกลับไปใช้ในไร่อ้อย เป็นต้น จึงช่วยลดผลกระทบที่อาจมีต่อระบบนิเวศ โดยต่อยอดสิ่งที่เหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ฟื้นฟู (Restore)

การดำเนินการพัฒนาและบำรุงรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการปลูกป่าที่มีความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายหน่วยงาน โดยตั้งเป้าหมายในการปลูกต้นไม้ 2.2 ล้านต้น ในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2565-พ.ศ.2575) รวมถึงการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชุมชน และแปลงสวนยางพาราสมาชิก Forest Stewardship Council (FSC) ของกลุ่มธุรกิจวัสดุทดแทนไม้

ปฏิรูป และเปลี่ยนแปลง (Regenerate and Transform)

การนำแนวทางบริหารการจัดการไร่แบบยั่งยืน “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” เข้ามาส่งเสริมให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรการเกษตรที่ทันสมัย ส่งเสริมการอนุรักษ์ดินด้วยการปลูกถั่วในช่วงพักดินและการตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน และการจัดหาแหล่งน้ำเสริมอ้อย และการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการไร่ ลดการใช้ทรัพยากรทั้งวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ และแรงงาน ส่งผลให้ต้นทุนต่อไร่ลดต่ำลง และสร้างวิถีการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การจัดกิจกรรมส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

โครงการปลูกต้นไม้กลุ่มมิตรผล

โครงการ ปลูกต้นไม้กลุ่มมิตรผล เป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินงานที่สนับสนุนเป้าหมายการก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี พ.ศ.2573 และองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ. 2593 โดยบริษัทวางเป้าหมายปลูกต้นไม้ 2.2 ล้านต้น ภายในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2575) ด้วยงบประมาณ 100 ล้านบาท โดยระหว่างปีพ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2566 มีผลการดำเนินงานดังนี้

จำนวนต้นไม้

657,763 ต้น
(แบ่งออกเป็นต้นไม้ที่ปลูกโดยบริษัทเองจำนวน 403,563 ต้น และร่วมกับบุคคลภายนอกอีก 254,200 ต้น)

จำนวนพื้นที่ปลูกต้นไม้

2,116 ไร่

จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

6,055 ราย

งบประมาณดำเนินการ

17.24 ล้านบาท

บริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการปลูกต้นไม้กลุ่มมิตรผลจะนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ในการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกระยะยาวต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสามารถต่อยอดไปสู่การขอรับรองคาร์บอนเครดิต เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างทัศนคติที่ดี มีแรงจูงใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการมีส่วนร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต

โครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกับคู่ค้า

บริษัท พาเนล พลัส จำกัด  ได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชุมชน และแปลงสวนยางพาราสมาชิก Forest Stewardship Council (FSC) ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านทุ่งหัวเมือง ป่าชุมชนบ้านต้นไทร และป่าชุมชนบ้านช่องเขา  รวมเป็นพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 2,497 ไร่ โดยกำหนดให้มีการติดตามกิจกรรมของป่าชุมชนทุกๆ 5 ปี และแปลงสวนยางพาราสมาชิก FSC ทุกๆ 3 ปี

ป่าชุมชนทุ่งหัวเมือง
ต.ท่าประดู่ อ.นาทวี จ.สงขลา

จำนวนพื้นที่ 1,065 ไร่

การดำเนินงานปี พ.ศ.2566

  1. ร่วมกันจัดการป่าไม้ โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางฯ โดยการ จัดทำป้ายป่าชุมชน จัดทำป้ายข้อปฏิบัติของป่าชุมชน จัดทำป้ายแนวเขตป่าชุมชน สำรวจพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ การลาดตระเวนบริเวณโดยรอบ และศึกษาแนวทางกำจัดพืชรุกราน
  2. สร้างแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติโดยการจัดทำป้ายชื่อต้นไม้ และสร้างห้องน้ำบริเวณพื้นที่ใช้ประโยชน์
  3. พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนเข้ามาศึกษา ร่วมทำความสะอาดพื้นที่ และติดตั้งไฟแสงสว่าง
  4. พัฒนาเป็นแหล่งอาหารให้ชุมชนโดยการอบรมการจัดการป่าชุมชน การปล่อยปลาลงบ่อ และการจัดทำป้ายข้อปฏิบัติในการเก็บหาของป่า

ป่าชุมชนบ้านต้นไทร
ต.ท่าปลักหนู อ.นาทวี จ.สงขลา

จำนวนพื้นที่ 1,033 ไร่

การดำเนินงานปี พ.ศ.2566

  1. ร่วมกันจัดการป่าไม้ โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางฯ โดยการ จัดทำป้ายป่าชุมชน จัดทำป้ายข้อปฏิบัติของป่าชุมชน จัดทำป้ายแนวเขตป่าชุมชน สำรวจพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ จัดพิธีทำบุญ และบวชป่า และทำการลาดตระเวนบริเวณโดยรอบ

  2. จัดทำเส้นทางเดินป่า และจุดชมวิว

  3. บริหารจัดการป่าอันเป็นประโยชน์ต่อการรับผลผลิตมาลดรายจ่ายโดยการ อบรมการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน และจัดทำป้ายแนะนำจุดสนใจ

ป่าชุมชนบ้านช่องเขา
อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

จำนวนพื้นที่ 399 ไร่

การดำเนินงานปี พ.ศ.2566

  1. ร่วมกันจัดการป่าไม้โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางฯ โดยการ จัดทำป้ายป่าชุมชน จัดทำป้ายข้อปฏิบัติของป่าชุมชน สำรวจพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ลาดตระเวน จัดทำป้ายแนวเขตป่าชุมชน และอบรมการจัดการป่าชุมชน

  2. พัฒนาป่าไม้และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงฯ โดยการจัดพิธีทำบุญ และบวชป่า ติดตั้งไฟแสงสว่าง และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ศาล

  3. บริหารจัดการป่าอันเป็นประโยชน์ต่อการรับผลผลิตมาลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน โดยการจัดการป่าชุมชน / การใช้ประโยชน์ และการจัดการขี้ค้างคาว

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

คำแสดงเจตจำนงด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ

Biodiversity Risk Assessment 2024

Mitr Phol Group Sustainability
Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.