Mitr Phol Group Sustainability

Edit Template

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก : ผู้ถือหุ้น / เกษตรกร / ลูกค้าและผู้บริโภค / ภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคม

อ้อยเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งหมดของมิตรผล การสร้างความมั่นคงให้กับแหล่งวัตถุดิบจึงเป็นสิ่งที่มิตรผลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โครงการ “มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม (Mitr Phol ModernFarm)”  จึงดำเนินการขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชาวไร่อ้อย อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย ด้วยการสร้างโอกาส ความเท่าเทียม การเข้าถึงแหล่งทุน องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ผ่านการพัฒนาดิน แหล่งน้ำ พันธุ์อ้อย วิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว และการขนส่งให้เหมาะสม เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการทำไร่อ้อยแบบดั้งเดิมที่ส่งผลต่อคุณภาพของอ้อยและปริมาณอ้อยที่ไม่แน่นอน อันจะส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงของวัตถุดิบอ้อยและความยั่งยืนของธุรกิจทั้งหมดของมิตรผล

เป้าหมายและผลการดำเนินงานของปี 2566

เป้าหมาย
ผลการดำเนินงาน
ปริมาณอ้อยสดที่เข้าโรงงาน
ร้อยละ 92
ภายในปี 2569/70
ร้อยละ 69.6
พัฒนาพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ส่งเสริมปลูกอ้อย
พื้นที่ชลประทานสะสม 1.13 ล้านไร่
ภายในปี 2567/68
พื้นที่ชลประทานสะสม 0.92 ล้านไร่

แนวทางการบริหารจัดการ

จากแนวความคิดพื้นฐาน “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ”ของกลุ่มมิตรผลในการดำเนินธุรกิจ โครงการ “มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม (Mitr Phol ModernFarm)”  จึงดำเนินการขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชาวไร่อ้อย อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย ด้วยการดำเนินงานดังนี้ 

ส่งเสริมให้ชาวไร่ดำเนินงานตามหลักของ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม (Mitr Phol ModernFarm) 

  • ปลูกถั่วในช่วงพักดิน (Legume Rotation Crops) การปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่องโดยไม่พักดินจะทำให้เกิดการสะสมโรคแมลงศัตรูอ้อย จึงควรพักดินและปลูกพืชชนิดอื่นโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เนื่องจากพืชตระกูลถั่ว มีแบคทีเรียไรโซเบียมในปมรากถั่วที่สามารถดึงไนโตรเจนในอากาศลงมาเป็นปุ๋ยในดินให้กับอ้อยในอนาคตได้ จึงเป็นการปรับปรุงและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินด้วยวิธีธรรมชาติ ช่วยตัดวงจรของโรคและแมลงศัตรูพืช อีกทั้งยังเป็นการลดใช้สารเคมีและสร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิตอีกทางหนึ่งได้
  • ควบคุมแนวล้อวิ่ง (Controlled Traffic) การสร้างแนวเบดฟอร์ม (Bed Form) ด้วยเครื่องมือยกร่องปลูกอ้อย เพื่อให้เอื้อต่อการนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้ในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การบำรุงรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยกำหนดระยะห่างระหว่างร่อง และยกร่องให้มีลักษณะเป็นสันจากระดับการวิ่งของรถ จะทำให้เครื่องจักรกลการเกษตรในทุกกิจกรรมสามารถวิ่งตามแนวร่องที่กำหนดไว้ และไม่เหยียบย่ำไปบนเบดฟอร์ม ช่วยลดการบดอัดของชั้นดิน และลดความเสียหายจากการเก็บเกี่ยว รวมทั้งยืดอายุการไว้ตออ้อยได้อีกด้วย
  • ลดการไถพรวน (Minimum Tillage) การทำไร่อ้อยแบบเดิมนั้น ชาวไร่ต้องไถพรวนดินทั้งแปลงก่อนปลูกอ้อยใหม่ แต่แนวทางของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม จะทำการไถพรวนเฉพาะเบดฟอร์มที่ยกขึ้นมาเท่านั้น จึงช่วยรักษาโครงสร้างดินและลดพื้นที่เตรียมดินลงประมาณครึ่งหนึ่ง ช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ลดเวลาในการเตรียมดินก่อนปลูกอ้อย และสามารถปลูกอ้อยใหม่ได้ทันกับความชื้นในดินที่ลดลง
  • ตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน (Trash Blanket) การตัดอ้อยสดและไว้ใบอ้อยคลุมดินจะช่วยรักษาความชื้นในดินไว้ และช่วยควบคุมวัชพืชไปในตัว จึงลดปริมาณการใช้สารกำจัดวัชพืชลงได้โดยปริยาย และยังช่วยให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากใบอ้อยจะสลายกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้กับอ้อยรุ่นต่อไป นอกจากนี้การไม่เผาใบอ้อยยังเป็นการช่วยรักษาหน้าดินและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินเอาไว้ได้
  • ระบบน้ำหรือชลประทานในไร่ (Irrigation) โดยปกติอ้อยต้องการน้ำ ประมาณ 1,500-1,700 มิลลิเมตรต่อปี แต่สภาพภูมิอากาศในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทำให้ปริมาณฝนไม่เพียงพอ และยังกระจายตัวไม่สม่ำเสมอทำให้อ้อยกระทบแล้งแทบทุกปี เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ผลผลิตอ้อยลดลง ดังนั้นการเตรียมเรื่องชลประทานที่เหมาะสม จะช่วยทำให้การจัดการน้ำและการปลูกอ้อยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

กลุ่มมิตรผลมีการส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อย ปลูกอ้อยตามหลัก "มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม"

ในทุกพื้นที่โรงงาน ซึ่งมีการส่งเสริมแก่ชาวไร่กลุ่มที่มีรถตัดอ้อยของโรงงานเป็นต้นแบบในพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่สะสมปี 2565/66 จำนวน 657,860* ไร่

* เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 จำนวน 28,580 ไร่

กลุ่มมิตรผลมีเกษตรกรคู่สัญญา

รวมทั้งสิน 36,387 ครอบครัว และแรงงานรับจ้างในภาคการเกษตรมากกว่า 1 แสนคน

* สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชนมากกว่า 22,000 ล้านบาท/ปี

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และเทคโนโลยีสารสนเทศ

  • การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์เพื่อตรวจวัดความชื้นของดิน ช่วยส่งเสริมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มทดสอบใช้งานในพื้นที่ไร่บริษัทและขยายผลมีแปลงสาธิตในแต่ละพื้นที่ของโรงงาน
  • ส่งเสริมการจัดการไร่อ้อยแบบ Smart Farming ด้วยการประยุกต์ใช้โดรน (Drone) และเฮลิคอปเตอร์ ทดแทนการจัดการไร่แบบเดิมที่ใช้รถแทรคเตอร์ ซึ่งจะทำให้ช่วยลดต้นทุน ได้ปริมาณงานต่อวันเพิ่มมากขึ้น ทำงานได้รวดเร็ว และลดการใช้น้ำมัน นอกจากนี้บริษัทยังช่วยจัดหาผู้รับเหมา Drone / Helicopter เข้าดำเนินการพื้นที่เพื่อสำรวจแปลงอ้อย ฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช และฉีดพ่นสารเร่งสุกแก่
  • การประยุกต์ใช้ระบบ GPS Guidance ในกระบวนการปลูกอ้อยและการขนส่ง  
  • การประยุกต์ใช้ Artificial Intelligence/Machine Learning (AI/ML) สำหรับบริหารจัดการไร่อ้อยในโครงการ Farm Focus โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยให้ได้ 20 ตันต่อไร่ โดยพัฒนา AI/ML 4 โมเดลและ 1 Digital Channel เป็นพื้นฐานในการจัดการไรอ้อย ดังนี้
    • โมเดลจำแนกประเภทการใช้พื้นที่ (Land Used Land Cover) โมเดลการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ร่วมกับข้อมูลภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อม เพื่อระบุถึงสิ่งปกคลุม หรือใช้ประโยชน์พื้นที่ที่อยู่ ณ ช่วงเวลาของภาพ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับนักส่งเสริมเข้าไปทำการส่งเสริมชาวไร่รายใหม่ ๆ หรือเข้าไปดำเนินการจัดซื้ออ้อยในพื้นที่เป้าหมาย
    • โมเดลติดตามสุขภาพพืช (Crop Health Monitoring) โมเดลวิเคราะห์ข้อมูลการสุขภาพของอ้อยโดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ร่วมกับข้อมูลภาคสนาม เพื่อตรวจวัดสุขภาพของอ้อยตลอดฤดูกาล ตรวจหาความผิดปกติของไร่อ้อย แยกตามประเภทอ้อยปลูก อ้อยตอ ว่ามีการเติบโตปกติหรือไม่ ก่อนนำไปสร้างการแนะนำในการเข้าไปบริหารจัดการไร่ให้ทันเวลา
    • โมเดลคาดการณ์ผลผลิตอ้อย (Yield Estimation) โมเดลการวิเคราะห์คาดการณ์ผลผลิตอ้อย ณ วันเก็บเกี่ยวในฤดูกาลผลิต โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2 ร่วมกับข้อมูลภาคสนาม ผลผลิตเกิดจริงย้อนหลังมากกว่า 3 ปี เพื่อคาดการณ์แต่ละแปลงอ้อยว่าจะมีผลผลิตปริมาณเท่าใด สำหรับนำไปใช้ร่วมกับโมเดลติดตามสุขภาพพืช ในการสร้างการแนะนำการบริหารจัดการไร่ให้เกิดการเพิ่มผลผลิตในไร่ต่อไป
    • โมเดลติดตามการเก็บเกี่ยว (Harvest Monitoring) โมเดลสำหรับการติดตามการเก็บเกี่ยวของแปลงอ้อยลงทะเบียนของกลุ่มมิตรผลแบบรายแปลง โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-1 และ Sentinel-2 ปัจจุบันสามารถมีความถี่ในการติดตามการตัดอ้อยได้ระหว่าง 3-5 วัน และมีความสามารถในการมองทะลุผ่านเมฆได้ 
    • ระบบให้คำแนะนำในการบริหารจัดการไร่ (Farm Advisor) เป็นการประยุกต์ใช้ AI/ML ทั้ง 4 โมเดลมาทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการบูรณาการการบริหารจัดการไร่แบบครบวงจรตั้งแต่ การมีพื้นที่ใหม่ ๆ การติดตามการเติบโต การประเมินผลผลิต ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต และส่งคำแนะนำในการบริหารจัดการไร่ให้กับนักส่งเสริมผ่านเครื่องมือ GGIS by OneAgri ที่จะเป็นเครื่องมือหรือ Productivity Tools ของนักส่งเสริมของกลุ่มมิตรผล
  • การสร้างฐานข้อมูลของชาวไร่ด้วยระบบฐานข้อมูล Cane MIS ระบบ Cane MIS (Cane Management Information System) เป็นระบบที่ช่วยส่งเสริมการซื้อขายอ้อยระหว่างกลุ่มมิตรผลและเกษตรกรให้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ โดยระบบจะเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน ดังนี้
    • ข้อมูลเชิงพื้นที่จากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการงานด้านการจ่าย ส่งเสริม และการรับซื้ออ้อยชาวไร่อย่างมีหลักเกณฑ์
    • ข้อมูลสัญญาหรือเงื่อนไขการซื้อ-ขาย รวมถึงคุณภาพของอ้อยในกลุ่มเกษตรกรที่เป็นเกษตรกรคู่สัญญา (Contract farming) 
    • ข้อมูลการซื้อขายบริการอื่นๆ เช่น การซื้อบริการด้านการเกษตรและโลจิสติกส์ (เช่น การเช่าอุปกรณ์) 
    • ข้อมูลด้านการเงินของชาวไร่ ได้แก่ การหักเงิน เงินกู้ และการเบิกเงินสดล่วงหน้าผ่านการชำระเงินและกระบวนการทางการเงิน เพื่อออกใบแจ้งยอดที่เป็นเอกสารให้กับเกษตรกร
  • การวางแผนการทำไร่ ด้วยแอพพลิเคชั่น Farm Pro 360 ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการวางแผนการทำไร่ การบริหารทรัพยากรในไร่ ได้แก่ สารเคมี ต้นทุนแรงงาน เครื่องจักร ฯลฯ ให้เหมาะสมกับการปลูกอ้อยและมีต้นทุนที่เหมาะสม โดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและประมวลผลเพื่อใช้ในการวางแผนการดำเนินงานตลอดวงจรชีวิตของอ้อย อาทิ การใช้ใบสั่งผลิต (Crop assignment) เพื่อกำหนดกิจกรรมในฟาร์ม การคิดต้นทุนตามกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในไร่ และการพิจารณาความพร้อมใช้งานของเครื่องจักร แรงงาน และวัสดุสิ้นเปลือง เป็นต้น โดยข้อมูลที่ได้จากระบบนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการติดตามการปฏิบัติตามมาตรฐาน Bonsucro และใช้เป็นฐานข้อมูลของการวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของมิตรผล
  • การทำสัญญาอ้อยแบบดิจิทัล (Digital Cane Contracting) เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการกับการทำสัญญาซื้อขายอ้อยระหว่างบริษัทและเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใสในการทำธุรกรรมทางธุรกิจ รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลที่ดีขึ้นด้วยการใช้ระบบดิจิทัล สามารถทำสัญญาและติดตามข้อมูลการซื้อขายอ้อยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดความผิดพลาดที่อาจเกิดจากการทำงานด้วยกระบวนการทางด้านเอกสารที่ใช้กระดาษ นอกจากนี้ยังมีบริการเสริมเพิ่มเติมให้ด้วย อาทิ สินเชื่อเพื่อการเกษตร คำแนะนำเชิงวิชาการด้านการเกษตรกรรมแม่นยำ และระบบการเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการฟาร์มอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำยิ่งขึ้น
  • การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมร่วมกับดัชนีความแตกต่างพืชพรรณ (Normalized Difference Vegetation Index – NDVI) เป็นการนำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและผลการสำรวจดัชนีความแตกต่างพืชพรรณ มาวิเคราะห์ความสมบูรณ์และการเจริญเติบโตของแปลงอ้อย ช่วยให้บริษัทสามารถแยกพื้นที่ที่อ้อยเติบโตสมบูรณ์และที่ไม่สมบูรณ์ออกจากกันได้ วิธีการนี้ช่วยสนับสนุนการทำงานของพนักงานส่งเสริมชาวไร่ได้ในการแนะนำการจัดการไร่อ้อยตามช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้อ้อยได้รับน้ำและสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต
  • การให้ปุ๋ยในระบบน้ำหยด (Drip Fertigation) เป็นการใส่ปุ๋ยที่ละลายน้ำได้ร่วมกับระบบการให้น้ำเดิมที่มีอยู่ในแปลงอยู่แล้ว ด้วยวิธีการนี้จะช่วยลดปัญหาปุ๋ยเม็ดไม่ละลาย เนื่องจากฝนไม่ตกหรือขาดการให้น้ำในแปลง กล่าวคือ สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้ปุ๋ยได้ถึงร้อยละ 80-90 จากเดิมที่ใช้ปุ๋ยแบบเม็ดซึ่งมีประสิทธิภาพการให้ปุ๋ยอยู่ที่ร้อยละ 20-50 เท่านั้น ทำให้อ้อยสามารถได้รับธาตุอาหารอย่างทั่วถึง เจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง และช่วยลดการสูญเสียธาตุอาหารจากการชะล้าง

การส่งเสริมความรู้พนักงานผ่าน Mitr Phol ModernFarm Academy

เป็นโครงการที่มุ่งยกระดับความรู้ของพนักงานให้เหมือนเกษตรกรมืออาชีพ ที่มีความรู้ทั้งวิชาการและการปฏิบัติจริงในการปลูกอ้อยและพืชอื่นด้วยระบบเกษตรสมัยใหม่ และช่วยส่งต่อองค์ความรู้ดังกล่าวให้กับชาวไร่ โดยมีแนวโน้มซึ่งนำไปสู่การสร้างผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้พนักงานส่งเสริม มีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม โดยในปี พ.ศ.2566 ModernFarm Academy ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้กับชาวไร่ Smart Farmer 40 คน และพนักงานส่งเสริมและหน่วยงานสนับสนุนกลุ่มงานอ้อย จำนวน 90 คน และมีเป้าหมาย ปี พ.ศ.2567 พนักงาน 100 คน Smart farmer 100 คน 

การผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน Bonsucro

มิตรผลส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลกในการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจากกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาล รวมทั้งยังเป็นการตระหนักถึงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ มาตรฐานดังกล่าวครอบคลุมหลักการสำคัญ 5 ประการคือ

ซึ่งหลักการทั้ง 5 ข้อข้างต้นครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ของการผลิตอ้อยและน้ำตาล โดยต้องมีระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ทั้งนี้กลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายแรกในประเทศไทย และรายที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559

นอกจากนี้คู่ค้าของมิตรผลทุกรายทั้งคู่ค้าหลักและคู่ค้าทางอ้อมต้องปฏิบัติตามแนวทางการเกษตรที่ยั่งยืน ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดการใช้น้ำ การลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม การปกป้องสุขภาพของดิน และการป้องกันการทำลายระบบนิเวศ

กลุ่มมิตรผลตั้งเป้าจะขยายการรับรองมาตรฐาน Bonsucro

ไปยังพื้นที่โรงงานมิตรเกษตรสมบูรณ์ในจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 10,000 ไร่ เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 8 โรงงาน รวมพื้นที่กว่า 510,000 ไร่ ภายในปี พ.ศ.2569

การดำเนินงานเรื่องการตัดอ้อยสด

ตามนโยบายรับอ้อยสดและลดการเผาใบอ้อยก่อนตัดของภาครัฐ ที่รณรงค์ให้ชาวไร่อ้อยไม่เผาอ้อย เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นควันของเถ้าใบอ้อย ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงแปลงอ้อย รวมถึงโรงงานน้ำตาลเองที่ได้รับผลกระทบจากการหีบอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน ที่ทำให้คุณภาพของอ้อยผลิตน้ำตาลลดลงนั้น โดยมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการเก็บเกี่ยวอ้อยสดเข้าสู่โรงงาน ดังนี้

  • ส่งเสริมและพัฒนาชาวไร่ตั้งแต่กระบวนการเตรียมแปลงรองรับเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อทดแทนแรงงานคน
  • ส่งเสริมชาวไร่รวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ใช้รถตัดอ้อย ตัดอ้อยสด ดังนี้
    • กำหนดให้หน่วยงานฝ่ายเครื่องมือเกษตรรับจ้างตัดอ้อยแก่ชาวไร่ที่ขาดแคลนแรงงาน ปัจจุบันมีรถตัดอ้อยให้บริการจำนวน 120 คัน
    • ส่งเสริมชาวไร่รายขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและรวมกลุ่มชาวไร่ประจำกลุ่มตัดอ้อย โดยส่งเสริมรถตัดแก่ชาวไร่ในพื้นที่ ทั้งสิ้น 363 คัน
    • ช่วยค้ำประกันแก่ชาวไร่ในการขอเข้าร่วมโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับชาวไร่อ้อย เพื่อใช้ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ปี พ.ศ.2565 – พ.ศ.2567 เพื่อส่งเสริมให้ชาวไร่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของภาครัฐและนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก
  • ส่งเสริมชาวไร่ใช้เครื่องสางใบอ้อยก่อนตัดอ้อย ด้วยการสนับสนุนเครื่องสางใบอ้อย จำนวน 606 ชุด
  • มีนโยบายรับซื้อใบอ้อยสดเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าชีวมวลในราคาตันละ 900 บาท

โดยในปี 2565/66 มิตรผลรับซื้อใบอ้อยเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลปริมาณกว่า 594,544 ตัน และรับซื้ออ้อยสดกว่า 12,932,420 ตัน คิดเป็นร้อยละ 69.6 ของอ้อยทั้งหมดที่เข้าโรงงาน และตั้งเป้าหมายปริมาณอ้อยสดที่เข้าโรงงานต้องมีค่าเท่ากับร้อยละ 92 ภายในปี 2569/70

การบริหารจัดการน้ำในไร่

การจัดหาแหล่งน้ำเสริมอ้อย

น้ำหรือชลประทานในไร่อ้อย (Irrigation) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้หลักสี่เสาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยปกติอ้อยต้องการน้ำ ประมาณ 1,500-1,700 มิลลิเมตรต่อปี แต่สภาพภูมิอากาศในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทำให้ปริมาณฝนไม่เพียงพอ และยังกระจายตัวไม่สม่ำเสมอทำให้อ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเกือบทุกปี และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง ดังนั้นการเตรียมเรื่องชลประทานที่ดี จะช่วยทำให้การจัดการน้ำและการปลูกอ้อยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมิตรผลมีวิธีจัดหาแหล่งน้ำเสริมอ้อยให้กับกับชาวไร่ด้วยการขุดสระและการจัดหาน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล โดยในปี 2565/66 มีพื้นที่ชลประทานสะสม 943,800 ไร่ แบ่งตามประเภทของชลประทานได้ดังนี้

นอกจากนี้ยังวางเป้าหมายว่า ในปี พ.ศ.2567 จะขุดสระเพิ่มอีกจำนวน 1,620 สระ ทำให้มีพื้นที่ไร่ที่ได้รับผลประโยชน์รวม 142,125 ไร่ และขุดเจาะบาดาลเพิ่มอีกจำนวน 12,900 บ่อ ทำให้มีพื้นที่ไร่ที่ได้รับผลประโยชน์เพิ่มอีก 129,000 ไร่

การพัฒนาระบบให้น้ำแบบน้ำหยด

การให้ระบบน้ำหยดในไร่ เป็นระบบการให้น้ำต้นอ้อยที่ถือว่าให้ประสิทธิภาพสูงสุดเพราะระบบนี้ใช้น้ำน้อยที่สุด แต่มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการดึงน้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น สระน้ำ บ่อบาดาล แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เป็นต้น วิธีนี้ยังช่วยควบคุมวัชพืชไม่ให้ขึ้นมารบกวนอ้อย เพราะน้ำจะหยดบริเวณกออ้อยเท่านั้น ในขณะที่พื้นที่ระหว่างแถวปลูกจะแห้งจนวัชพืชไม่สามารถงอกและเจริญเติบโตแข่งกับอ้อยได้ ซึ่งการใช้ระบบน้ำหยดแม้ว่าจะมีประสิทธิภาพสูง แต่การลงทุนก็ยังสูงอยู่ ปัจจุบันมีหลายบริษัทนำระบบเข้ามาจำหน่ายและทำโครงการส่งเสริมโดยร่วมมือกับโรงงานน้ำตาล ซึ่งชาวไร่สามารถซื้อระบบเงินผ่อนผ่านโรงงานน้ำตาลได้ ปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินการระบบน้ำหยดไปแล้วกว่า 130,000 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด

การร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก

  • โครงการชลประทานร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐ มิตรผลดำเนินการขอสนับสนุนโครงการชลประทานจากกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกระทรวงพลังงาน ปีละไม่น้อยกว่า 20,000 ไร่ ผ่านการรวบรวมความต้องการจากเกษตรกรในพื้นที่ การจัดประชุม การจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ และการเขียนขอโครงการ ผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำเข้าพิจารณาของคณะอนุกรรมการน้ำจังหวัด และนำเข้าแผนพัฒนาพื้นที่ชลประทานของประเทศต่อไป ซึ่งในปี พ.ศ.2566 มีโครงการขอสนับสนุนดังต่อไปนี้
    • กรมชลประทาน 3 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 19,000 ไร่ สนับสนุนพื้นที่ส่งเสริมอ้อย 8,700 ไร่
    • กรมพัฒนาที่ดิน 210 สระ ครอบคลุมพื้นที่ 1,050 ไร่ สนับสนุนพื้นที่ส่งเสริมอ้อย 1,050 ไร่
    • กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 75 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 2,250 ไร่ สนับสนุนพื้นที่ส่งเสริมอ้อย 750 ไร่
  • โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก มิตรผลสนองนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมนโยบายและหลักเกณฑ์ โดยร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นพัฒนาโครงการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับฐานรากให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยในปี พ.ศ.2566 มิตรผลได้ดำเนินการขอรับการส่งเสริมดังนี้
    • โครงการพัฒนาระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 176 โครงการ สนับสนุนพื้นที่ส่งเสริมอ้อย 10,400 ไร่
    • โครงการต่อขยายระบบกระจายน้ำจากภาครัฐ จำนวน 2 โครงการ สนับสนุนพื้นที่ส่งเสริมอ้อย 2,400 ไร่
    • โครงการบ่อเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น จำนวน 174 โครงการ สนับสนุนการเติมน้ำใต้ดิน 500,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี