Mitr Phol Group Sustainability

Edit Template

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก: ผู้ถือหุ้น, ลูกค้าและผู้บริโภค, ภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคม

การกำกับดูแลกิจการ

กลุ่มมิตรผลดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และได้มีการปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ของบริษัท โดยกลุ่มมิตรผลได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผู้ถือหุ้น เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการกำกับกิจการที่ดี สร้างความเจริญเติบโตทางธุรกิจ เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกัน โดยผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลที่จำเป็นอย่างครบถ้วนผ่านช่องทางที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อบริษัท สามารถต่อยอด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น รวมทั้งเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของกลุ่มมิตรผลได้อีกด้วย

มิตรผลได้กำหนดให้มีนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีแนวปฏิบัติที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านบรรษัทภิบาล โดยมีการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่ต้องรับทราบ ร่วมยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ทำให้สามารถมั่นใจได้ว่า มีการดำเนินธุรกิจ โดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะสร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน

โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ

กลุ่มมิตรผลมีคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการบริหาร ซึ่งมีหน้าที่อย่างชัดเจน โดย คณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 ท่าน มีหน้าที่กำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ นโยบาย แนวปฏิบัติและระบบควบคุมภายใน รวมถึงการกำกับ ติดตาม และควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร เพื่อให้เกิดการเติบโตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มมิตรผล จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละ 6 ครั้ง เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของกิจการ ตลอดจนพิจารณาอนุมัติประเด็นสำคัญ และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรายงานผลการดำเนินงานและแผนการดำเนินการต่างๆ ให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ

การสรรหาคณะกรรมการบริษัท

ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทคณะกรรมการบริษัทของกลุ่มมิตรผล ในการดูแลกิจการของกลุ่มมิตรผล และการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อย 5 คน และไม่เกิน 12 คน โดยบริษัทฯ มีคณะกรรมการบริษัทจำนวนทั้งสิ้น 9 ท่าน เป็นกรรมการที่เป็นผู้บริหารจำนวน 6 ท่าน กรรมการอิสระจำนวน 1 ท่าน และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารจำนวน 2 ท่าน* โดยได้พิจารณาสรรหากรรมการบริษัทจากบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์การทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทฯ และความหลากหลายทางวิชาชีพที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อการประกอบกิจการ การกำหนดกลยุทธ์ สามารถช่วยพัฒนาบริษัทฯ ผลักดันองค์กรไปสู่การเติบโตตามกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างเหมาะสม และเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นมากที่สุด ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ อีกทั้งยังสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้ดุลยพินิจอย่างเป็นอิสระ ในกรณีที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น หรือ ผู้มีส่วนได้เสียด้วย

สำหรับกรรมการอิสระนั้น ได้พิจารณาตามนิยามกรรมการอิสระที่บริษัทฯ กำหนด ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล รวมทั้งความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่มีนัยสำคัญที่อาจมีผลทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ หรือให้ความเห็นได้อย่างอิสระด้วยแล้ว ในแต่ละปีกรรมการบริษัทต้องหมุนเวียนออกจากตำแหน่งเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งคณะ (ตามข้อบังคับของบริษัท) จำนวนบริษัทที่กรรมการแต่ละท่านสามารถดำรงตำแหน่งได้นั้น ต้องมีจำนวนไม่เกิน 4 บริษัท และมีการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า ร้อยละ 90 โดยในการประชุมคณะกรรมการบริษัทแต่ละครั้ง เลขานุการบริษัท จะจัดส่งหนังสือเชิญประชุม ซึ่งระบุวาระการประชุมทั้งหมดให้คณะกรรมการล่วงหน้าก่อนวันประชุมอย่างน้อย 7 วัน ซึ่งจะมีการจดบันทึกการประชุมที่มีรายละเอียดครบถ้วนชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการจัดเก็บรักษารายงานการประชุม ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการบริษัทฯ อย่างครบถ้วนพร้อมให้คณะกรรมการบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้ โดยในปีที่ผ่านมาคณะกรรมการบริษัทเข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น ร้อยละ 98.48 ของการประชุมทั้งหมด

*คณะกรรมการบริษัท หมายถึง คณะกรรมการบริษัท ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566

การพัฒนาความรู้ของหน่วยงานกำกับดูแลสูงสุด

บริษัทสนับสนุนให้คณะกรรมการบริษัทเข้าร่วมการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ต่างๆ ในหลากหลายมิติ บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาองค์กรได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยคณะกรรมการฯ ได้เข้าร่วมการอบรมหลักสูตรของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของกรรมการ และส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีในประเทศไทย อาทิ

จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ

มิตรผลมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเหมาะสมตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจริยธรรมทางธุรกิจเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ เนื่องจากความประพฤติปฏิบัติที่ดีที่บุคลากรมิตรผลทุกคนต้องยึดถือในการดำเนินงาน ตั้งแต่กรรมการ ที่ปรึกษา ผู้บริหารและพนักงานทุกคน ย่อมจะสะท้อนถึงพฤติกรรมองค์กรที่ดี และไม่เพียงแต่บุคลากรมิตรผลเท่านั้น แต่เรายังคำนึงถึงการปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรมและมีความสอดคล้องกันของกลุ่มคู่ค้าจึงได้มีการกำหนดให้มี จรรยาบรรณคู่ค้า ขึ้น ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการป้องกันความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของมิตรผลทั้งทางตรงและทางอ้อม

เป้าหมายและผลการดำเนินงานของปี 2566

เป้าหมาย
ผลการดำเนินงาน
สัดส่วนบุคลากรของมิตรผลได้รับการอบรมจรรยาบรรณ
ร้อยละ 75
ร้อยละ 85

หมายเหตุ: บุคลากรของมิตรผลจะได้รับการอบรมจรรยาบรรณครบร้อยละ 100 ภายในปี พ.ศ. 2568

แนวทางการบริหารจัดการ

มิตรผลได้กำหนดให้มีหน่วยงานธรรมาภิบาลขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการสื่อสารนโยบายด้านการกำกับดูแลกิจการ และจรรยาบรรณมิตรผลตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ไปสู่การสร้างการรับรู้และผลักดันไปสู่การนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กรและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมิตรผลกำหนดให้มีการทบทวนนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้มีความเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ อีกทั้งยังกำหนดให้มีกลไกในการรับข้อร้องเรียนขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้แจ้งเบาะแสที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรและสนับสนุนการดำเนินงานอย่างโปร่งใส โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระบวนการในการรับข้อร้องเรียนได้ถูกปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความทันสมัยและสอดคล้องต่อบริบทองค์กร และมิตรผลยังได้เข้าร่วมในโครงการด้านจริยธรรมระดับประเทศ เพื่อเทียบเคียงแนวปฏิบัติในการทำงานของกลุ่มมิตรผลกับแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อให้องค์กรเกิดการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ในปี พ.ศ.2566 ได้มีการทบทวนนโยบายและแนวปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ จรรยาบรรณมิตรผล จรรยาบรรณคู่ค้า นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน และแนวปฏิบัติการรับหรือการให้ ของขวัญ และการเลี้ยงรับรอง เป็นต้น และในปีเดียวกันนี้ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้รับการประกาศเกียรติคุณจรรยาบรรณดีเด่น หอการค้าไทย ครั้งที่ 21 ซึ่งจัดขึ้นโดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และได้รับรางวัลชมเชยโครงการองค์กรโปร่งใส ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยบริษัทได้รับรางวัลดังกล่าวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ตามที่ ป.ป.ช. ได้จัดขึ้น นอกจากนี้มิตรผลยังได้รับการรับรองในโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย หรือ Thai Private Sector Collective Action against Corruption (CAC) ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 และเรายังคงมุ่งมั่นในการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินการงานที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใสอย่างต่อเนื่อง

บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้รับ “ประกาศเกียรติคุณจรรยาบรรณดีเด่น หอการค้าไทย ครั้งที่ 21” จัดขึ้นโดย หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้รับ “รางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 11” จัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ สำนักงาน ป.ป.ช.

การสร้างการรับรู้และการสื่อสาร

เพื่อให้การดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องรวมถึงจรรยาบรรณมิตรผล เพื่อส่งเสริมการรับรู้และสร้างความตระหนักให้แก่บุคลากรมิตรผล รวมถึงมีการเผยแพร่และสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้เสียภายนอกผ่านช่องทางต่างๆ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความตระหนัก เช่น การจัดการอบรมสำหรับบุคลากรมิตรผลและคู่ค้า ป้ายประชาสัมพันธ์ติดตั้งพื้นที่ตั้งโรงงานและสำนักงาน การประชาสัมพันธ์ผ่านอีเมล การกำหนดเป็นหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับพนักงานใหม่ และการเผยแพร่ผ่านเวปไซต์ของบริษัท เป็นต้น และเพื่อเป็นการย้ำเตือนและสร้างความตระหนักแก่บุคลากรมิตรผลอย่างสม่ำเสมอ บุคลากรมิตรผลทั้งหมดร้อยละ 100 จะต้องลงนามรับทราบและถือปฏิบัติจรรยาบรรณมิตรผล เป็นประจำทุกปี

โดยในปี พ.ศ. 2566 การจัดอบรมหลักสูตร “จรรยาบรรณมิตรผลและระเบียบวินัยบริษัท” ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยมีเป้าหมายที่บุคลากรมิตรผลทุกคนจะต้องผ่านการอบรมให้ครบถ้วนร้อยละ 100 ภายในปี พ.ศ.2568 ซึ่ง ณ ปี พ.ศ.2566 เป็นการจัดอบรมผ่านระบบออนไลน์และการอบรมในห้องประชุม โดยปัจจุบันมีบุคลากรมิตรผลเข้าร่วมหลักสูตรสะสม คิดเป็นร้อยละ 85 ของบุคลากรมิตรผลทั้งหมด และได้มีการปรับปรุงสื่อการเรียนรู้ เรื่องจรรยาบรรณมิตรผล สำหรับพนักงานใหม่ เป็นรูปแบบวิดีโอเพื่อให้สามารถสื่อสารได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดทำภาพนิ่งเพื่อทำการสื่อสารประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกองค์กร เช่น การปรับปรุงนโยบายแนวปฏิบัติ Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เป็นต้น ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น e-mail, ป้ายประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

จำนวนผู้ที่ได้รับการสื่อสาร รับทราบและอบรมจรรยาบรรณ
นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการของกลุ่มมิตรผล

การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน

มิตรผลดำเนินธุรกิจโดยตั้งอยู่ในความเป็นธรรม การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันจึงเป็นหนึ่งในพฤติกรรมองค์กรที่มิตรผลให้ความสำคัญอย่างมาก และมีการกำหนดนโยบายการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชันไว้อย่างชัดเจน รวมถึงมีการจัดทำแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอีกด้วย เช่น แนวปฏิบัติการรับหรือการให้ ของขวัญ และการเลี้ยงรับรอง เป็นต้น และได้มีการทบทวนนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องกับบริบทโลกและบริบทองค์กรอยู่เสมอ

โดยในปี พ.ศ.2566 การสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบและหลากหลายช่องทาง เพื่อให้การสื่อสารเข้าถึงบุคลากรทั่วทั้งองค์กรตามที่กล่าวข้างต้น ซึ่งไม่เพียงการสร้างการรับรู้และความตระหนักในองค์กรเท่านั้น กลุ่มมิตรผลยังคงเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันในระดับประเทศต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และสนับสนุนให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวทั้งในสถานที่จัดงานจริงและเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักในจุดยืนของกลุ่มมิตรผลที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของสังคมไทย นอกจากนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นผ่านเว็ปไซต์บริษัท เพื่อเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและบุคคลทั่วไปได้รับทราบถึงกิจกรรมดังกล่าวอีกด้วย

มิตรผลเข้าร่วมงาน วันต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2566 ภายใต้แนวคิด “What the Fact?” ค้นหาความจริงใจในการต่อต้านคอร์รัปชัน เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566 ณ สถานีกลางบางซื่อ และผ่านช่องทางออนไลน์
มิตรผลเข้าร่วมงาน วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ประจำปี พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง” เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ผ่านช่องทางออนไลน์

กลไกการรับแจ้งข้อมูล เบาะแส และข้อร้องเรียน (Whistleblowing Mechanism)

กลุ่มมิตรผลได้กำหนดให้มีแนวปฏิบัติการร้องเรียน โดยมีช่องทางการรับแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสที่หลากหลาย มีการกระบวนการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลหรือเบาะแส มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ให้ข้อมูล การรักษาข้อมูลของผู้แจ้งไว้เป็นความลับให้จำกัดเฉพาะผู้ที่รับผิดชอบและมีหน้าที่ตรวจสอบเท่านั้นที่จะเข้าถึงข้อมูลไว้อย่างชัดเจน เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรทั้งภายในและภายนอกกลุ่มมิตรผลสามารถร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการกระทำต่างๆ ที่มีลักษณะฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน (เช่น พฤติกรรมเลือกปฏิบัติหรือการล่วงละเมิด) ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือขัดต่อจรรยาบรรณมิตรผล ผ่านช่องทางการร้องเรียนที่หลากหลาย ได้แก่ เว็บไซต์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายไปรษณีย์ หรือช่องทางอื่นใดที่เหมาะสมและสะดวกต่อผู้ร้องเรียน

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการทบทวนแนวปฏิบัติให้มีความเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และทำการสื่อสารแนวปฏิบัติและกลไกการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการอบรมและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ด้วยป้าย, Internal PR, Computer Screen อีกทั้งยังมีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์วิธีการส่งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางที่กำหนดในรูปแบบคลิปวีดีโอ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้บุคลากรมิตรผลและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสอดส่องดูแลองค์กรและคนในองค์กรให้เกิดการพัฒนาและมีความโปร่งใสสมดังเจตนาที่ตั้งไว้

จำนวนข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการผิดจรรยาบรรณและการคอร์รัปชั่น กลุ่มมิตรผล

หมายเหตุ: * การผิดจรรยาบรรณมิตรผลด้านอื่นๆ ได้แก่ ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบบริษัท

สำหรับข้อร้องเรียนที่บริษัทได้รับ บริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบ และดำเนินการตามระเบียบของบริษัทอย่างเหมาะสม รวมทั้งจัดทำมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นในอนาคต โดยพบว่าข้อร้องเรียนของปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เป็นการติดสินบนและคอร์รัปชัน รวมถึงความไม่เป็นธรรมทางการค้าแต่อย่างใด

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี