Mitr Phol Group Sustainability

Edit Template

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก : ผู้ถือหุ้น/ ลูกค้าและผู้บริโภค/ ภาครัฐและภาคประชาสังคม

มิตรผลตระหนักเป็นอย่างดีถึงความสำคัญของการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้อุดมสมบูรณ์ เพราะจะช่วยส่งเสริมการส่งมอบบริการจากระบบนิเวศ (Ecosystem Services) ให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์มากขึ้น กล่าวคือ จะช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำที่เพียงพอ และช่วยบรรเทาความรุนแรงของภัยธรรมชาติ อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของมิตรผลตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อม

บริษัทจึงมีการบริหารจัดการเชิงรุกอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดความมุ่งมั่นที่จะไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (No Net Loss: NNL) ส่งเสริมการดำเนินโครงการใหม่ เพื่อส่งมอบผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิเชิงบวก (Net Positive Impact: NPI) และดำเนินธุรกิจโดยปราศจากผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้สุทธิ (No Net Deforestation)* อีกทั้งยังได้ประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และกำหนดมาตรการป้องกัน หลีกเลี่ยงและลดผลกระทบให้เหมาะสมอีกด้วย

เป้าหมายและผลการดำเนินงานของปี 2566

เป้าหมาย
ผลการดำเนินงาน
การสูญเสียคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (Biodiversity Loss) ภายใต้ขอบเขตที่บริษัทดำเนินการ
ไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (No Net Loss: NNL) ภายใต้ขอบเขตที่บริษัทดำเนินการได้ ภายในปี พ.ศ.2573
ไม่เกิดความสูญเสียคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (No Net Loss: NNL) ภายใต้ขอบเขตที่บริษัทดำเนินการ
สัดส่วนพื้นที่สีเขียวภายในโรงงาน
ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของพื้นที่โรงงาน
ร้อยละ 14 ของพื้นที่โรงงาน

แนวทางการบริหารจัดการ

การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

มิตรผลได้นำแนวทางการประเมินความเสี่ยงทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลมาปรับใช้ เพื่อค้นหาและประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของมิตรผลครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าของมิตรผล เพื่อให้บริษัทสามารถระบุอุตสาหกรรมและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและกำหนดมาตรการรองรับความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม

การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

การประยุกต์ใช้หลักการบรรเทาผลกระทบตามลำดับขั้น
(Mitigation Hierarchy Principle)

หลีกเลี่ยง (Avoid)

การออกแบบและบริหารการจัดการพื้นที่โรงงานและพื้นที่ปฏิบัติการ ให้มีกระบวนการดำเนินอย่างมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการออกนโยบายความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ที่ระบุถึงการกำกับและควบคุมการดำเนินธุรกิจเพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

ลดผลกระทบ (Reduce)

พัฒนาการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจบนแนวคิดการจัดการแบบ “เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่าให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า หรือ From Waste to Value Creation” ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของเหลือทิ้ง ด้วยการนำส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรม พลังงานทดแทน และธุรกิจอื่นๆ อาทิ การนำชานอ้อย (Bagasse) มาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าชีวมวล และผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในกลุ่มธุรกิจและจำหน่ายสู่ภายนอก การนำกากน้ำตาล (Molasses) มาหมักกับยีสต์เพื่อผลิตเป็นเอทานอล การนำน้ำกากส่า (Vinasse) ที่เป็นของเสียจากกระบวนการผลิตเอทานอลมาพัฒนาร่วมกับกากหม้อกรอง (Filter Cake) ที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาล มาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเพื่อนำกลับไปใช้ในไร่อ้อย เป็นต้น จึงช่วยลดผลกระทบที่อาจมีต่อระบบนิเวศ โดยต่อยอดสิ่งที่เหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ฟื้นฟู (Restore)

การดำเนินการพัฒนาและบำรุงรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการปลูกป่าที่มีความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายหน่วยงาน โดยตั้งเป้าหมายในการปลูกต้นไม้ 2.2 ล้านต้น ในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2565-พ.ศ.2575) รวมถึงการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชุมชน และแปลงสวนยางพาราสมาชิก Forest Stewardship Council (FSC) ของกลุ่มธุรกิจวัสดุทดแทนไม้

ปฏิรูป และเปลี่ยนแปลง (Regenerate and Transform)

การนำแนวทางบริหารการจัดการไร่แบบยั่งยืน “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” เข้ามาส่งเสริมให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรการเกษตรที่ทันสมัย ส่งเสริมการอนุรักษ์ดินด้วยการปลูกถั่วในช่วงพักดินและการตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน และการจัดหาแหล่งน้ำเสริมอ้อย และการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการไร่ ลดการใช้ทรัพยากรทั้งวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ และแรงงาน ส่งผลให้ต้นทุนต่อไร่ลดต่ำลง และสร้างวิถีการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การจัดกิจกรรมส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

โครงการปลูกต้นไม้กลุ่มมิตรผล

โครงการ ปลูกต้นไม้กลุ่มมิตรผล เป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินงานที่สนับสนุนเป้าหมายการก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี พ.ศ.2573 และองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ. 2593 โดยบริษัทวางเป้าหมายปลูกต้นไม้ 2.2 ล้านต้น ภายในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2575) ด้วยงบประมาณ 100 ล้านบาท โดยระหว่างปีพ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2566 มีผลการดำเนินงานดังนี้

จำนวนต้นไม้

657,763 ต้น
(แบ่งออกเป็นต้นไม้ที่ปลูกโดยบริษัทเองจำนวน 403,563 ต้น และร่วมกับบุคคลภายนอกอีก 254,200 ต้น)

จำนวนพื้นที่ปลูกต้นไม้

2,116 ไร่

จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

6,055 ราย

งบประมาณดำเนินการ

17.24 ล้านบาท

บริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการปลูกต้นไม้กลุ่มมิตรผลจะนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ในการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกระยะยาวต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสามารถต่อยอดไปสู่การขอรับรองคาร์บอนเครดิต เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างทัศนคติที่ดี มีแรงจูงใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการมีส่วนร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต

โครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกับคู่ค้า

บริษัท พาเนล พลัส จำกัด  ได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชุมชน และแปลงสวนยางพาราสมาชิก Forest Stewardship Council (FSC) ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านทุ่งหัวเมือง ป่าชุมชนบ้านต้นไทร และป่าชุมชนบ้านช่องเขา  รวมเป็นพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 2,497 ไร่ โดยกำหนดให้มีการติดตามกิจกรรมของป่าชุมชนทุกๆ 5 ปี และแปลงสวนยางพาราสมาชิก FSC ทุกๆ 3 ปี

ป่าชุมชนทุ่งหัวเมือง
ต.ท่าประดู่ อ.นาทวี จ.สงขลา

จำนวนพื้นที่ 1,065 ไร่

การดำเนินงานปี พ.ศ.2566

  1. ร่วมกันจัดการป่าไม้ โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางฯ โดยการ จัดทำป้ายป่าชุมชน จัดทำป้ายข้อปฏิบัติของป่าชุมชน จัดทำป้ายแนวเขตป่าชุมชน สำรวจพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ การลาดตระเวนบริเวณโดยรอบ และศึกษาแนวทางกำจัดพืชรุกราน
  2. สร้างแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติโดยการจัดทำป้ายชื่อต้นไม้ และสร้างห้องน้ำบริเวณพื้นที่ใช้ประโยชน์
  3. พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนเข้ามาศึกษา ร่วมทำความสะอาดพื้นที่ และติดตั้งไฟแสงสว่าง
  4. พัฒนาเป็นแหล่งอาหารให้ชุมชนโดยการอบรมการจัดการป่าชุมชน การปล่อยปลาลงบ่อ และการจัดทำป้ายข้อปฏิบัติในการเก็บหาของป่า

ป่าชุมชนบ้านต้นไทร
ต.ท่าปลักหนู อ.นาทวี จ.สงขลา

จำนวนพื้นที่ 1,033 ไร่

การดำเนินงานปี พ.ศ.2566

  1. ร่วมกันจัดการป่าไม้ โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางฯ โดยการ จัดทำป้ายป่าชุมชน จัดทำป้ายข้อปฏิบัติของป่าชุมชน จัดทำป้ายแนวเขตป่าชุมชน สำรวจพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ จัดพิธีทำบุญ และบวชป่า และทำการลาดตระเวนบริเวณโดยรอบ

  2. จัดทำเส้นทางเดินป่า และจุดชมวิว

  3. บริหารจัดการป่าอันเป็นประโยชน์ต่อการรับผลผลิตมาลดรายจ่ายโดยการ อบรมการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน และจัดทำป้ายแนะนำจุดสนใจ

ป่าชุมชนบ้านช่องเขา
อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

จำนวนพื้นที่ 399 ไร่

การดำเนินงานปี พ.ศ.2566

  1. ร่วมกันจัดการป่าไม้โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางฯ โดยการ จัดทำป้ายป่าชุมชน จัดทำป้ายข้อปฏิบัติของป่าชุมชน สำรวจพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ลาดตระเวน จัดทำป้ายแนวเขตป่าชุมชน และอบรมการจัดการป่าชุมชน

  2. พัฒนาป่าไม้และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงฯ โดยการจัดพิธีทำบุญ และบวชป่า ติดตั้งไฟแสงสว่าง และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ศาล

  3. บริหารจัดการป่าอันเป็นประโยชน์ต่อการรับผลผลิตมาลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน โดยการจัดการป่าชุมชน / การใช้ประโยชน์ และการจัดการขี้ค้างคาว

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

คำแสดงเจตจำนงด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ

Biodiversity Risk Assessment 2024