Mitr Phol Group Sustainability

Edit Template

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก : ผู้ถือหุ้น/ ชุมชน/ ลูกค้าและผู้บริโภค/ ภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคม

มิตรผลในบทบาทผู้นำในอุตสาหกรรมเกษตรให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยตระหนักดีว่าการดำเนินธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันการดำเนินธุรกิจก็ยังต้องพึ่งพาธรรมชาติและการยอมรับจากสังคม ดังนั้นการป้องกันปัญหามลพิษจึงเป็นสิ่งสำคัญที่มิตรผลต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเติบโตของธุรกิจ เพื่อแสดงออกถึงการรับผิดชอบต่อสังคม ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสถานประกอบการและชุมชน เพื่อให้การพัฒนาธุรกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน

เป้าหมายและผลการดำเนินงานของปี 2566

เป้าหมาย
ผลการดำเนินงาน
โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลได้รับการรับรอง ISO14001
12 แห่ง
12 แห่ง
การร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรงมาก*
ไม่มีข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อม ในระดับรุนแรงมาก*
ไม่มีข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อม ในระดับรุนแรงมาก*

*ระดับรุนแรงมาก หมายถึง มีการต่อต้านจากสังคมอย่างรุนแรงและลุกลามเป็นกลุ่มใหญ่ จนต้องเข้าสู่กระบวนการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือมีหนังสือสั่งให้หยุดการดำเนินการตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535

แนวทางการบริหารจัดการ

คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีนโยบายความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม* ที่ชัดเจนและสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น เพื่อนำไปสู่การจัดทำมาตรการป้องกัน เฝ้าระวัง แก้ไข และการตรวจสอบระบบต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้กำหนดให้มีหน่วยงานที่ดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรงในทุกโรงงาน เพื่อรับผิดชอบให้การขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ และทำหน้าที่รณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งต่อพนักงาน ชาวไร่ และชุมชน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย ที่เกี่ยวข้อง และกำหนดให้มีการประชุมร่วมกับฝ่ายบริหารระดับสูงของธุรกิจน้ำตาลและไฟฟ้าภายใต้น้ำตาล อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อติดตาม ขอความเห็น และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกได้แจ้งข้อมูล ให้ข้อเสนอแนะ หรือร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ในหลากหลายช่องทาง ส่วนในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ จะจัดให้มีการประชุมร่วมกับฝ่ายบริหารประจำโรงงานในรูปแบบการประชุมคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.)ทั้งมิติความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งเช่นกัน และมีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี สำหรับโรงงานขนาดใหญ่ตามข้อกำหนดของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) และคณะกรรมการร่วมกับชุมชน สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากภาคส่วนโรงงาน หน่วยงานภาครัฐและชุมชน เพื่อให้มีการร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ และนำพัฒนาปรับปรุงระบบการบริหารด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อันจะช่วยให้การพัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

บริษัทยึดหลักสำคัญของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล ISO14001 อันประกอบด้วย การกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม การวางแผนเพื่อสนองนโยบาย การทำความเข้าใจองค์กรและบริบทขององค์กรร่วมถึงผู้มีส่วนได้เสีย การประเมินความเสี่ยงและประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนต่างๆเพื่อการนำไปปฏิบัติและการดำเนินการ การตรวจสอบและการปฏิบัติแก้ไข การทบทวนและปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดแนวทางการระบุปัญหาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้ดังนี้

ฝ่ายบริหาร
กำหนดนโยบาย สนับสนุนทรัพยากร และให้อำนาจในการตัดสินใจแก่ตัวแทนฝ่ายบริหารด้านสิ่งแวดล้อม (EMR : Environmental management representative) ประกาศแต่งตั้งคณะจัดการสิ่งแวดล้อมโดยมี EMR เป็นฟันเฟือนหลักในการขับเคลื่อนระบบ
วิศวกร/หัวหน้าแผนก/ผู้รับผิดชอบแต่ละฝ่าย
ระบุประเด็นปัญหาและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อหาผลกระทบในระดับต่างๆ และพิจารณาจัดการแก้ไข เพื่อลดปัญหาและผลกระทบ ซึ่งครอบคลุมลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ดังนี้
  • การใช้วัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติ
  • การใช้พลังงาน
  • การปล่อยของเสียสู่อากาศ
  • การปล่อยของเสียสู่น้ำ
  • การปล่อยของเสียสู่ดิน
  • การปลดปล่อยพลังงาน
  • การก่อให้เกิดของเสีย
  • การใช้พื้นที่
  • ปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
  • คณะจัดการสิ่งแวดล้อมร่วมกับวิศวกร/หัวหน้าแผนก/ผู้รับผิดชอบแต่ละฝ่าย
    กำหนดประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญ เตรียมวัตถุประสงค์และเป้าหมายสิ่งแวดล้อม และแผนงานสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขป้องกัน โดยขับเคลื่อนผ่านคณะจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบ อนุมัติ ติดตามผลดำเนินการ และรายงานต่อฝ่ายบริหาร เพื่อเป็นการทบทวนปรับปรุงต่อไป
    หัวหน้าแผนก/ผู้จัดการฝ่าย/คณะทำงานฯ/ผู้รับผิดชอบของหน่วยงาน
    ติดตามผลและประเมินประสิทธิภาพที่เกี่ยวข้องทบทวนและปรับปรุงลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม และนำเสนอต่อฝ่ายบริหารอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

    ซึ่งจากการปฏิบัติตามแนวทางข้างต้น ทำให้บริษัทสามารถบ่งชี้ผู้มีส่วนได้เสีย วิเคราะห์ และประเมินความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มสมรรถนะการจัดการสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการปฏิบัติตามข้อบังคับทางกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มเพิ่มความโปร่งใสในการทำงาน และสร้างความเชื่อมั่นที่ดีให้กับผู้มีส่วนได้เสีย

    นอกจากนี้มิตรผลยังตั้งเป้าหมายการจัดทำระบบ Multi-Site Certification โดยครอบคลุมการรับรองระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร หรือ ISO14001 และระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือ ISO45001 ภายใต้การบริหารแบบ Single system ของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวนทั้งสิ้น 12 แห่ง ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2567 เพื่อยกระดับและขยายขอบเขตระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Management System: EMS) ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล

    การบริหารจัดการน้ำอุตสาหกรรม

    น้ำดิบ-น้ำใช้

    มิตรผลจัดให้มีการประมาณการการเปลี่ยนแปลงความพอเพียงของน้ำ (Water Availability) ในอนาคต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความเครียดด้านน้ำ (Water Stress) ของปี พ.ศ.2573 ปี พ.ศ.2583 และปี พ.ศ.2593 โดยใช้เครื่องมือ Standardized Precipitation Evapotranspiration Index และ Aqueduct Water Tool นอกจากนี้ยังรวบรวมข้อมูลพยากรณ์อากาศในพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด สำรวจพื้นที่การเข้าถึงน้ำ รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติ บ่อน้ำบาดาล และสระน้ำ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มชาวไร่ที่ยังอาศัยฝนเป็นแหล่งน้ำหลัก รวมถึงจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรน้ำโดยพิจารณาจากผลการวิเคราะห์ความเครียดด้านน้ำ ประกอบด้วยการคาดการณ์ความต้องการน้ำในการชลประทาน การวิเคราะห์ความอ่อนไหว แผนการเพาะปลูกอ้อย และการจัดการน้ำในการดำเนินธุรกิจ โดยตลอดปี พ.ศ.2566 บริษัทมีกระบวนการติดตามความพอเพียงของน้ำอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการประเมินความพอเพียงของน้ำในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยมีขอบเขตการติดตามข้อมูลครอบคลุมถึงความพร้อมของแหล่งน้ำ ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ คุณภาพน้ำ และสถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับน้ำ รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถือเป็นหัวใจสำคัญของแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ในการจัดการกับความท้าทายด้านน้ำแล้วแนวทางแก้ไขร่วมกัน และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการจัดหาน้ำของชุมชนท้องถิ่น

    นอกจากนี้บริษัทได้กำหนดเป้าหมายการใช้น้ำดิบของโรงงานน้ำตาลและการควบคุมค่า Sugar Content เพื่อลดการสูญเสียโดยไม่ทราบสาเหตุ (Undetermined Loss) ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปความสกปรกจากการปนเปื้อนของน้ำอ้อยและน้ำตาลในจุดต่างๆของกระบวนการผลิต ซึ่งหากลดค่า Sugar Content ที่อยู่ในรูปการสูญเสียโดยไม่ทราบสาเหตุได้มากเท่าไร ก็เป็นการลดน้ำใช้ได้มากเท่านั้น ตลอดจนเป็นการลดน้ำเสียอีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายปี พ.ศ.2566 เพื่อควบคุมปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารทั้งหมดต่อปริมาณน้ำตาลที่ขาย 0.17 ตัน/ตันน้ำตาลที่ขาย บริษัทจึงมีการตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการกำหนดจุดติดตามตรวจวัด การรายงานผลการตรวจวัด รวมถึงติดตามการแก้ไขปัญหา

    น้ำเสีย

    บริษัทได้นำหลัก 4Rs ได้แก่ การจัดหาแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง (Resource) ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต (Reduce) การหมุนเวียนน้ำที่เกิดจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) การนำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดกลับมาใช้ใหม่ภายในโรงงาน (Recycle) ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการใช้น้ำจากการดำเนินธุรกิจของมิตรผล

    นอกจากนี้ บริษัทยังกำหนดให้มีการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบต่างๆ ตามความเหมาะสมของคุณภาพน้ำเสียและพื้นที่ตั้งของโรงงาน อาทิ ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อผึ่ง (Oxidation pond) ทั้งที่เป็นบ่อหมัก (Anaerobic pond) สระเติมอากาศ (Aerated pond) และระบบบำบัดแบบตะกอนเร่ง (Activated sludge) โดยน้ำทิ้งจะต้องมีคุณภาพเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ.2560 และประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2539) เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดประเภทโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา อุทยานมิตรผลด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อผึ่งที่เป็นส่วนของสระเติมอากาศให้เป็นระบบบำบัดแบบตะกอนเร่ง เพื่อรองรับน้ำเสียจากการดำเนินธุรกิจของอุทยานด่านช้างทั้งหมด ประกอบด้วยโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้า และโรงงานเอทานอล ส่งผลให้เกิดข้อดีดังนี้

    การบริหารจัดการคุณภาพอากาศ

    บริษัทกำหนดให้มีมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้
    • การเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ นำร่องการบริหารจัดการคุณภาพอากาศแบบเชิงรุก “รู้ก่อนชุมชน จัดการก่อนถึงชุมชน” เพื่อลดผลกระทบและข้อร้องเรียนของชุมชน ในพื้นที่ตั้งของโรงงาน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี จ.สิงห์บุรี จ.ชัยภูมิ และ จ.กาฬสินธุ์ ด้วยการพัฒนาระบบ AERMODEL และ IoT sensors สำหรับติดตามทิศทางลม ความเร็วลม และตรวจวัดคุณภาพในบรรยากาศในพื้นที่รอบโรงงาน เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ฝุ่นขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 100 ไมครอน (PM 100) ลงมา พร้อมมีระบบแจ้งผ่าน LINE Official Notification พยากรณ์อากาศทิศทางลมความเร็วลมล่วงหน้า ทุก 12 และ 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งมาตรการลดผลกระทบให้สอดคล้องกับข้อมูลพยากรณ์อากาศ และกำลังพัฒนามีระบบแจ้งเตือนทันที หากพบว่าค่าฝุ่นละอองมีระดับการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือมีการเปลี่ยนทิศทางลมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน ทำให้สามารถจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษได้ตั้งแต่ต้นทาง
      นอกจากนี้ยังนำข้อมูลการพยาการณ์มาใช้วางแผนการดำเนินงานกิจกรรมที่เป็นต้นกำเนิดมลพิษล่วงหน้าและรายวันให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตลอดจนการนำข้อมูลอุตุนิยมวิทยามาใช้ในเชิงสถิติในการวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนทิศทางลมในแต่ช่วงเดือนต่างๆ ของปี เพื่อช่วยวางแผนระยะยาวของกิจกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษให้สอดคล้อง ทั้งนี้ระบบดังกล่าวจะนำมาใช้แทนระบบประเมินปริมาณฝุ่นในโรงงานและชุมชนแบบเดิม ที่ยังมีข้อจำกัดด้านความแม่นยำ การบันทึกข้อมูลในอดีตและการวิเคราะห์ข้อมูลล่วงหน้า
    • การควบคุมและป้องกันการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด
      • ควบคุมกระบวนการผลิตเพื่อลดการเกิดมลพิษจากขั้นตอนการผลิต ด้วยการควบคุมการใช้เชื้อเพลิงและปัจจัยการเผาไหม้ของหม้อไอน้ำให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ลดการเกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และปริมาณฝุ่นละอองรวม (Total suspended particulate: TSP) จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าชีวมวล
      • ควบคุมฝุ่นจากลานกองชานอ้อย-ใบอ้อย 
      • ควบคุมฝุ่นจากลานกองไม้ปีก ซึ่งเป็นวัตถุดิบของธุรกิจผลิตวัสดุทดแทนไม้ ด้วยการติดตั้งแนวตาข่าย สเปรย์น้ำรอบกองไม้ปีก สร้างแนวกำแพงดินและแนวต้นไม้กันฝุ่น
      • ติดตั้งระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ เพื่อควบคุมฝุ่นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าชีวมวล ด้วยการติดตั้งระบบบำบัดอากาศเสียแบบเปียก (Wet scrubber) และระบบควบคุมฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิตย์ (Electrostatic precipitator)
      • ปรับปรุงระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นขนาดใหญ่ ด้วยการติดตั้งระบบมัลติไซโคลน (Multi cyclone) และปรับปรุงระบบ Electrostatic precipitators ที่มีอยู่เดิมของโรงไฟฟ้าชีวมวล มิตรผลไบโอเพาเวอร์ กาฬสินธุ์ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2567
      • ติดตั้งระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ เพื่อควบคุมฝุ่นจากกระบวนการผลิตวัสดุทดแทนไม้ ด้วยการติดตั้งระบบมัลติไซโคลน (Multi cyclone) และระบบ Wet electrostatic precipitators และมีระบบดูดและรวบรวมฝุ่นจากกระบวนผลิตวัสดุทดแทนไม้ภายในอาคารผลิต และรถดูดฝุ่นวิ่งรอบบริเวณลานกองไม้ปีก เพื่อนำกลับไปเป็นเชื้อเพลิงให้พลังงานในกระบวนการผลิตต่อไป
      • ควบคุมฝุ่นจากการสัญจรในช่วงฤดูหีบอ้อย โดยจัดให้มีรถน้ำพรมถนนทั้งในโรงงานและในชุมชนรอบโรงงาน
      • ลดการสะสมของฝุ่นละออง ด้วยการทำความสะอาดหลังคา อาคาร ระบบลำเลียงเชื้อเพลิงต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
    • การกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ
      • มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ปล่องระบายอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามคุณภาพให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นไปตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และตรวจวัดค่าความทึบแสงเขม่าควันที่ระบายออกจากปล่องด้วยแผนภูมิเขม่าควันของริงเกิลมานน์ (Ringelmann Smoke Chart) 
      • มีแผนติดตั้งระบบการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมแบบต่อเนื่อง (Continuous. Emission Monitoring System: CEMS) ของปล่องระบายจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อควบคุมค่าความเข้มข้นของมลพิษที่ระบายออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้บ่งบอกประสิทธิภาพของเตาเผาว่ามีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จปี  พ.ศ. 2568

    การบริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรม

    ด้วยแนวคิด ‘เปลี่ยนสิ่งที่ไร้ค่าให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า’ หรือ ‘From Waste to Value Creation’ มิตรผลจึงมุ่งพัฒนาธุรกิจจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โดยนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากธุรกิจหนึ่งไปต่อยอดสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ เช่น การนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ชานอ้อย มาเพิ่มมูลค่าผลิตเป็นไฟฟ้าชีวมวล การนำกากน้ำตาลมาต่อยอดเป็นเอทานอลเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเครื่องบินชีวภาพ การนำกากตะกอนหม้อกรองและน้ำกากส่ามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ย รวมถึงการต่อไปสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based) เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์ที่มาจาก Petroleum-based ซึ่งเป็นรูปแบบที่ช่วยลดของเหลือทิ้ง ลดการสร้างผลกระทบต่อห่วงโซ่คุณค่าและช่วยต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ให้กับองค์กรอีกด้วย

    มิตรผลยังได้กำหนดกลยุทธ์การบริหารจัดการของเสียตามแนวคิดลำดับขั้นของการจัดการของเสีย (Waste hierarchy) ประกอบด้วย การลดของเสียที่ก่อกำเนิด (Avoid/Reduce) การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) การรีไซเคิล (Recycling) และการนำกลับคืนอื่น ๆ (Recovery) เช่น การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน เพื่อลดปริมาณของเสียที่นำไปกำจัดด้วยการเผาหรือการฝังกลบ นอกจากนี้บริษัทยังมีการกำหนดมาตรฐานการบริหารจัดการของเสียให้สอดคล้องตามหลักปฏิบัติสากลรวมถึงข้อกำหนดและกฎหมาย เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

    ปัจจุบันมิตรผลอยู่ระหว่างการจัดเก็บข้อมูลและศึกษาการเกิดของเสียอย่างเป็นระบบ หรือการทำ Waste audit ของอุทยานด่านช้าง เพื่อสร้างฐานข้อมูลของเสียให้ครบถ้วนทุกรายการ ได้แก่ ชนิด ปริมาณ จุดกำเนิด รวมถึงวิธีในการจัดการของเสียแต่ละชนิดที่โรงงานก่อให้เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ข้อมูลชุดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการขยายผลการบริหารจัดการของเสียของมิตรผลในอนาคต โดยบริษัทมีแผนที่จะส่งเสริมให้อุทยานด่านช้างเป็นต้นแบบการรีไซเคิลแบบระบบปิด (Closed-loop Recycling Model) โดยจะร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงพาร์ตเนอร์ในห่วงโซ่คุณค่าเข้าด้วยกันและสร้างระบบการนำของเสียมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดของเสียที่จะนำไปฝังกลบ โดยมิตรผลคาดหวังว่าจะสามารถขยายโมเดลนี้ไปยังโรงงานอื่นๆในเครือต่อไปในอนาคต

    นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา มิตรผลยังได้ดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ดังนี้

    • โครงการวัสดุปรับปรุงดิน ‘ดินพลังช้าง’ ที่ผลิตมาจากกากหม้อกรอง ใบอ้อย เศษทรายใบอ้อย เถ้าชานอ้อย และใบอ้อยเก่า โดยได้รับการรับรองการใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ จากกรมวิชาการเกษตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ กลุ่มโรงงานมีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้พร้อมใช้งานในภาคเกษตรแปลงใหญ่ในอนาคต
    • โครงการศึกษาและวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เถ้าชานอ้อยจากโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล ได้แก่
      1. โครงการพัฒนาฟิลเลอร์สำหรับปุ๋ยเคมี เพื่อพัฒนาฟิลเลอร์ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับฟิลเลอร์ที่โรงงานผลิตปุ๋ยในเครือ
        มิตรผลใช้อยู่
      2. โครงการศึกษาองค์ประกอบเถ้าชานอ้อยในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์และพัฒนาเครื่องแยกองค์กระประกอบเถ้าชานอ้อย เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการเถ้าชานอ้อย โดยหากสามารถแยกเถ้าชานอ้อยได้ จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นๆต่อได้ เช่น อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ หรือใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับบริษัทในเครือ
      3. โครงการเปลี่ยนชานอ้อยให้เป็นเชื้อเพลิงแบบก้อนหรือแบบแท่ง เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมของโรงไฟฟ้าและโรงงานผลิตปุ๋ย
      4. โครงการศึกษาสัดส่วนการผสมเถ้าและตะกอนปูนขาวผลิตอิฐตกแต่งด้วยเทคโนโลยีจีโอพอลิเมอร์ (Geo-polymer) โดยทำงานร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC ในการคิดค้นส่วนผสมจำนวน 5 สูตร ให้เหมาะสมกับเถ้าจากโรงไฟฟ้าของมิตรผล ซึ่งจะช่วยเสริมคุณภาพและความแข็งแรงให้กับอิฐโดยมีกำหนดแล้วเสร็จปี พ.ศ.2567

    การวางแผนการจัดหลักสูตรอบรมเรื่องการบริหารจัดการ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย

    ฝ่ายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม สำนักงานใหญ่และฝ่ายทรัพยากรบุคคลของทุกโรงงาน ร่วมกันออกแบบหลักสูตรพัฒนาองค์ความรู้ให้กับพนักงานในฝ่ายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมของโรงงานทั้งหมดในเครือมิตรผล ในปี พ.ศ.2566 เป็นปีแรกที่บริษัทได้จัดทดสอบวัดระดับความรู้ของพนักงานระดับปฏิบัติการ ระดับเจ้าหน้าที่ และระดับหัวหน้างาน โดยแบ่งหัวข้อการทดสอบออกเป็น 2 เรื่อง คือ

    1. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมหัวข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การจัดการระบบสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน และวิศวกรรมและเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม 
    2. ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ครอบคลุมหัวข้อกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การจัดการระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัย อาชีวอนามัย วิศวกรรมและเทคโนโลยีความปลอดภัย และวิศวกรรมและเทคโนโลยีป้องกันอัคคีภัย


    ทั้งนี้ ฝ่ายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมสำนักงานใหญ่และฝ่ายทรัพยากรบุคคลของทุกโรงงาน จะนำผลการทดสอบที่ได้ไปออกแบบการจัดอบรมของปี พ.ศ.2567 ให้เหมาะสมกับผลคะแนนของพนักงานในแต่ละพื้นที่ และแจ้งไปยังผู้จัดการของโรงงานทุกพื้นที่ เพื่อให้แต่ละโรงงานสามารถสนับสนุนพัฒนาศักยภาพของผู้ใต้บังคับบัญชาไปควบคู่กับการรับผิดชอบในงานได้ โดยมุ่งหวังว่าพนักงานจะสามารถนำประสบการณ์จริงจากการทำงานและองค์ความรู้ที่ได้รับ มาปรับใช้ให้เกิดการแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรและองค์กรได้

    นโยบายที่เกี่ยวข้อง

    นโยบายความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม