Mitr Phol Group Sustainability

Edit Template

ผู้มีส่วนได้เสีย : ผู้ถือหุ้น  /เกษตรกร  /คู่ค้า  /ลูกค้าและผู้บริโภค  /ภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคม

มิตรผลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดี อีกทั้งยังยึดมั่นในจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการดำเนินธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การบริหารความสัมพันธ์กับคู่ค้าอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยบริษัทจัดให้มีสัมมนาคู่ค้าและจัดทำคู่มือเพื่อสื่อสารกับคู่ค้าประจำปี เพื่อให้คู่ค้ารับทราบและเข้าใจถึงนโยบายและระเบียบวิธีการจัดซื้อจัดหา รวมถึงข่าวสารต่างๆ และแนวทางการบริหารคู่ค้า โดยมีการกำหนดหลักปฏิบัติสำหรับคู่ค้าอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้า ในกระบวนการพิจารณาคัดเลือก นอกจากนี้ ยังช่วยให้คู่ค้ารักษามาตรฐานการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบในการรักษาสิ่งแวดล้อม การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงานด้วยความเป็นธรรม การปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย ธรรมาภิบาล การป้องกันการหาผลประโยชน์ อีกทั้งยังทำงานร่วมกันกับคู่ค้าในการพัฒนาศักยภาพและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน

เป้าหมายและผลการดำเนินงานของปี 2566

เป้าหมาย
ผลการดำเนินงาน
คู่ค้ารายสำคัญ (Significant Supplier)
ได้รับการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดี
ร้อยละ 100
ร้อยละ 73.42

แนวทางการบริหารจัดการ

กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน

กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการรวมถึงการบริหารความเสี่ยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีประธานกรรมการบริษัทดูแลภาพรวมในการดำเนินงานการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ผ่านนโยบายจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนและจรรยาบรรณคู่ค้ามิตรผล ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงานด้วยความเป็นธรรม การปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย ธรรมาภิบาล การป้องกันการหาผลประโยชน์ โดยมีการทบทวนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งสื่อสาร และตรวจสอบให้คู่ค้าปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งคู่ค้าทุกรายต้องรับทราบและยอมรับข้อกำหนดในจรรยาบรรณคู่ค้าก่อนเข้าร่วมเป็นคู่ค้าของมิตรผล อีกทั้งยังมีระบบบริหารความเสี่ยงของคู่ค้าตามกลุ่มประเภทสินค้าและบริการ (Supplier Position Model) และมีขั้นตอนที่รัดกุมในการตรวจสอบคุณสมบัติคู่ค้าทุกรายที่จะขอขึ้นทะเบียนเป็นคู่ค้าใหม่ของบริษัท รวมถึงการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดี ทั้งในระดับประเทศ ระดับอุตสาหกรรม และในระดับสินค้า

นอกจากนี้บริษัทยังกำหนดให้มีการตรวจประเมินผลการดำเนินงานคู่ค้าประจำปี ทั้งในรูปแบบการประเมินผลเบื้องต้นด้วยตนเอง (Self-assessment) ผ่านการใช้แบบสอบถาม โดยมีฝ่ายบริหารคุณภาพคู่ค้าเป็นผู้ตรวจประเมินแบบสอบถามอีกครั้ง หรือ การตรวจประเมินในสถานประกอบการคู่ค้า (2nd party on-site assessment) โดยฝ่ายจัดซื้อและจัดหาวัตถุดิบ (Procurement division / Material sourcing section) ร่วมกับ ฝ่ายพัฒนาเพื่อความยั่งยืน รวมถึง การตรวจประเมินจากบุคคลที่ 3 (3rd party on-site assessments) เช่น มาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน (Bonsucro Standard) มาตรฐาน Supplier Guiding Principles มาตรฐาน Sedex Members Ethical Trade Audit เป็นต้น พร้อมทั้งแจ้งผลการประเมินให้กับคู่ค้าผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (email) หรือ 2Way2Grow Application โดยคู่ค้าสามารถเข้าถึงผลการประเมินของคู่ค้ารายอื่น (Benchmarking) เพื่อส่งเสริมให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดีระหว่างคู่ค้า ซึ่งเกณฑ์การประเมินมีความครอบคลุมและหลากหลายประเด็น อาทิ การควบคุมการผลิต คุณภาพและมาตรฐานของสินค้า เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าของกลุ่มมิตรผลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสนับสนุนและตรวจติดตามการดำเนินงานของคู่ค้าที่อยู่ในโครงการพัฒนาคู่ค้าอยู่เป็นระยะ รวมถึงมีการพัฒนาคู่ค้าผ่านการอบรมเชิงเทคนิคภายใต้การดำเนินโครงการร่วมกันระหว่างกลุ่มมิตรผลและคู่ค้าที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดี ของคู่ค้าเป็นประจำทุกๆ 3 ปีกับคู่ค้าส่วนกลางและคู่ค้าวัตถุดิบ เพื่อให้มั่นใจว่า การดำเนินธุรกิจของคู่ค้าจะเป็นไปตามจรรยาบรรณคู่ค้าอย่างเคร่งครัด หากพบว่าคู่ค้ารายใดละเมิดสิทธิมนุษยชน และ/หรือไม่ดำเนินธุรกิจตามข้อกำหนดในจรรยาบรรณคู่ค้า บริษัทจะดำเนินการแจ้งเตือน โดยกำหนดแผน ระยะเวลา และติดตามการแก้ไขปรับปรุงในประเด็นดังกล่าว หากคู่ค้าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ จะมีการกำหนดบทลงโทษและอาจดำเนินการยกเลิกสัญญาและถอดรายชื่อออกจากทะเบียนคู่ค้าของบริษัทอย่างถาวร เช่น หากพบว่ามีการปลูกอ้อยบนพื้นที่ป่าสงวน/เขตป่า/เขตอนุรักษ์ บริษัทจะปฏิเสธการรับซื้อหรือยกเลิกสัญญา เป็นต้น สำหรับคู่ค้าที่ได้รับประเมินผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดี ตามเกณฑ์ที่บริษัทได้กำหนดไว้ จะได้รับการเชิดชูเกียรติ เช่น รางวัลพิเศษ เกียรติบัตร หรือ การยกย่องให้เป็น “ชาวไร่ต้นแบบ” เป็นต้น โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดีของคู่ค้าหลักรายสำคัญ (Significant Tier-1 Supplier) เช่น คู่ค้าสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ กลุ่มจ้างเหมาแรงงาน และคู่ค้าส่วนกลางรายใหม่ทุกราย

โดยคู่ค้าใหม่ที่ได้รับการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ การกำกับกิจการที่ดี ประจำปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,592 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.89 ของคู่ค้าใหม่ทั้งหมด สำหรับคู่ค้ารายสำคัญ (Significant Supplier) ที่ได้รับการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ประจำปี 2566 (ESG Assessment 2024) ด้วยวิธีการประเมินแบบเบื้องต้น (Desk Assessment) ผ่านการตอบแบบประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนฯ ด้วยตนเอง (Self-assessment) และ/หรือ การตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ (On-site assessment) โดยฝ่ายจัดซื้อและจัดหาวัตถุดิบ (Procurement division / Material sourcing section) จำนวนทั้งสิ้น 906 ราย

กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดี

คู่ค้าควรดำเนินธุรกิจสอดคล้องตามหลักจรรยาบรรณคู่ค้ามิตรผลและคำนึงถึง ESG คู่ค้าที่ได้รับผลการประเมินตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด จะได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ เช่น รางวัลพิเศษ เกียรติบัตร หรือ การยกย่องให้เป็น “ชาวไร่ต้นแบบ” หรือคะแนนพิเศษในกรณีที่คู่ค้าทำโครงการร่วมกับบริษัท คู่ค้าที่ไม่ผ่านคะแนนการประเมินขั้นต่ำ จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของตนและส่งหลักฐานการปรับปรุงให้กับบริษัท โดยบริษัทจะพิจารณาและปลดล็อคสถานะให้ หากได้รับการประเมินว่าผ่านเกณฑ์แล้ว

สำหรับเกษตรกรที่ส่งมอบอ้อยสด จะได้รับราคาอ้อยพิเศษ โดยราคาจะเป็นไปตามประกาศของรัฐบาล และหากส่งมอบอ้อยไฟไหม้ จะถูกหักราคาอ้อย หากพบว่ามีการบุกรุกป่าสงวน/ เขตป่า/ เขตอนุรักษ์ จะไม่รับซื้อหรือยกเลิกสัญญา

คู่ค้าและเกษตรกรทุกคน โดยเฉพาะคู่ค้าและเกษตรกรรายสำคัญ จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมโปรแกรมการฝึกอบรมที่มีการอบรมด้าน ESG อย่างน้อยปีละครั้ง (กรณีคู่ค้า – งานสัมมนาคู่ค้าประจำปี, กรณีเกษตรกร – การประชุมประจำปีของสมาคมชาวไร่และโรงงานน้ำตาล)

การจำแนกประเภทคู่ค้า

ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลได้มีการจำแนกคู่ค้าออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ คู่ค้าส่วนกลาง และคู่ค้าวัตถุดิบ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

คู่ค้าส่วนกลาง

เป็นคู่ค้าที่เป็นผู้สนับสนุนจัดหาสินค้าบริการ หรือจ้างเหมาทั้งในและต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ 

คู่ค้าวัตถุดิบ

บริษัทกำหนดให้มีการจำแนกคู่ค้าตามปริมาณยอดการสั่งซื้อและระดับความสำคัญของสินค้า เพื่อให้บริษัทสามารถกำหนดแผนและกลยุทธ์ในการบริหารจัดการคู่ค้าให้มีประสิทธิภาพ โดยมีเกณฑ์การจำแนกคู่ค้าที่มีความสำคัญ (Significant Suppliers) ดังนี้ 

  • เป็นคู่ค้าที่ส่งมอบสินค้าพิเศษ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานกลุ่มมิตรผลกำหนดเท่านั้น ได้แก่ สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ 
  • เป็นผู้ขายน้อยรายที่มีความเชี่ยวชาญ จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าตามที่กลุ่มมิตรผลต้องการ 
  • เป็นผู้ขายที่กลุ่มมิตรผลมียอดสั่งซื้อสูงตามเกณฑ์ที่กลุ่มมิตรผลกำหนด 
  • เป็นคู่ค้ากลุ่มผู้รับเหมาที่มีการขออนุมัติอัตรา เพื่อปฏิบัติงานในด้านต่างๆ 
  • เป็นคู่ค้าที่ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดี
ในปี 2566 บริษัทมีคู่ค้าทั้งหมด 38,363 ราย ประกอบด้วยคู่ค้าหลัก (Tier-1 Supplier) ร้อยละ 94.13 และคู่ค้าทางอ้อม (Non Tier-1 Supplier) ร้อยละ 5.87 โดยมีคู่ค้าหลักรายสำคัญ (Significant Tier-1 Supplier) จำนวน 1,179 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.26 ของจำนวนคู่ค้าหลักทั้งหมด และคู่ค้าทางอ้อมรายสำคัญ (Significant non Tier-1 Supplier) จำนวน 55 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.44 ของคู่ค้าทางอ้อมทั้งหมด (Non Tier-1 Supplier) โดยมีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจากคู่ค้าหลักรายสำคัญ (Significant non Tier-1 Supplier) คิดเป็นร้อยละ 43.26 ของคู่ค้าหลักทั้งหมด (Tier-1 Supplier)

การพัฒนาระบบ Mitr Phol Procurement System

มิตรผลพัฒนาระบบ Mitr Phol Procurement System (MPS) บนเว็บไซต์ เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ขอซื้อ จัดซื้อ และคู่ค้าใช้ติดตามสถานะใบสั่งซื้อสินค้า การประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้กับคู่ค้าแบบทันที (Real-time) การประเมินคู่ค้า เมื่อจัดส่งสินค้าหรือบริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยข้อมูลบน MPS จะเชื่อมโยงกับข้อมูลในระบบ SAP เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการทำงาน ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงกระบวนการจัดซื้อทั้งหมด   

สำหรับวัสดุสัมผัสอาหาร (Food Contact Materials) ที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของอาหาร เช่น สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต และบรรจุภัณฑ์ เมื่อทำการตรวจรับสินค้าที่คู่ค้าจัดส่งในระบบ MPS แล้ว ระบบดังกล่าวจะติดตามคุณภาพสินค้า แหล่งผลิต รวมไปถึงการขนส่งที่มีความปลอดภัย  หากส่งสินค้าไม่ถูกต้องตามข้อมูลจำเพาะของสินค้า (Specification) หรือสินค้าดังกล่าวมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้านความปลอดภัยอาหาร ทางคู่ค้าจะต้องแก้ไขความไม่สอดคล้องดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด 

การจัดสัมมนาและมอบรางวัลให้กับคู่ค้าประจำปี

มิตรผลจัดประชุมร่วมกับคู่ค้าเป็นประจำทุกปี เพื่อสื่อสารจรรยาบรรณคู่ค้า ระเบียบการจัดหาสินค้าและบริการของบริษัท ให้คู่ค้าทุกรายรับทราบ ระบบมาตรฐานคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย นอกจากนี้ยังได้สื่อสารเรื่อง Mitr Phol Supplier ESG Program ให้คู่ค้าได้รับทราบ ถึงแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนขององค์กร รวมถึงการอบรมเพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (ESG Awareness Training) บนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmental) การเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและชุมชนรอบข้าง (Social) และ การดำเนินธุรกิจบนการกำกับกิจการที่ดี (Governance) รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและความคาดหวังของคู่ค้าเพื่อพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อคู่ค้า ช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ยกระดับประสิทธิภาพของคู่ค้าและบริษัท เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ บริษัทได้จัดให้มีการมอบรางวัลให้กับคู่ค้าที่มีผลงานดีเด่นเป็นประจำปี โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีคู่ค้าที่มีผลงานระดับดีเยี่ยม ติดต่อกัน 2 ปี ที่ได้รับเกียรติบัตรและรางวัลพิเศษจากกลุ่มมิตรผล จำนวน 74 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.08 จากจำนวนคู่ค้าทั้งหมด

โครงการส่งเสริมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนร่วมกับคู่ค้า

โครงการการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement)

มิตรผลได้นำตรฐานสากล ISO 20400:2017 มาใช้เป็นกรอบการดำเนินงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้กำหนดนโยบายจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนและสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีการสั่งซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากการซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรในปี 2565* หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดในปี 2566  ประกอบด้วยสินค้าและบริการประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำความสะอาด อุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องใช้ในสำนักงาน ผลิตภัณฑ์กระดาษ ยานพาหนะและอุปกรณ์เสริม อีกทั้งมีแผนขยายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวให้ครอบคลุมสินค้าและบริการในหมวดหมู่อื่นๆ มากยิ่งขึ้น

*เป้าหมายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวเพิ่มอย่างน้อยร้อยละ 2 จากจำนวนคู่ค้าเดิมที่มีการสั่งซื้อจากปีก่อนหน้า

โครงการจัดการการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน Bonsucro

มิตรผลส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลกในการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจากกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาล รวมทั้งยังเป็นการตระหนักถึงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทการบริหารจัดการไร่และน้ำในไร่

โครงการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council

บริษัท พาเนล พลัส จำกัด จัดทำโครงการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืนตามหลักการของมาตรฐาน Forest Stewardship Council หรือ FSC มาตั้งแต่ปี 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรสามารถดูแลและจัดการสวนยางพาราได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ บริษัทได้เปิดรับสมัครเกษตรกรรายย่อยที่สนใจและยินดีปฏิบัติตามข้อกำหนดเข้าร่วมโครงการฯ ที่กำหนดให้พื้นที่สวนยางพาราที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีเอกสารสิทธิ์ออกให้โดยหน่วยงานราชการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น โฉนดที่ดิน นส.3 และ สปก. เป็นต้น และไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่คุ้มครอง และพื้นที่ที่มีทรัพยากรคุณค่าสูง และเมื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว สมาชิกต้องเข้ารับการอบรมในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในสวนยางพารา อีกทั้งยังกำหนดให้มีการติดตามตรวจสอบสถานภาพและผลการดำเนินงานของสมาชิกอยู่เป็นระยะ หากพบถึงการกระทำต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จะมีคำร้องแก้ไขการดำเนินงาน หากไม่มีการแก้ไขเหตุดังกล่าวให้เรียบร้อย สถานภาพการเป็นสมาชิกก็จะสิ้นสุดลง โดยในปี 2566 ยังพบสมาชิกที่ปฏิบัติไม่สอดคล้องตามข้อกำหนดโดยที่ไม่มีการแก้ไขตามคำร้องขอให้ดำเนินการแก้ไข จำนวน 36 ราย จึงได้ดำเนินการถอนออกจากการเป็นสมาชิก ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกที่ยังอยู่ในโครงการฯทั้งสิ้น จำนวน 3,456 ราย คิดเป็นพื้นที่ 68,378 ไร่ และสามารถซื้อวัตถุดิบไม้ยางพาราคืนจากสมาชิกได้จำนวน 49,035 ตัน คิดเป็นมูลค่า 49.29 ล้านบาท และมีปริมาตรไม้รวมทุกชั้นอายุประมาณ 1,309,783.20 ลูกบาศก์เมตร และมีอัตราความเพิ่มพูนเฉลี่ยประมาณ 1.56 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ปี โดยแบ่งพื้นที่สวนยางพาราที่เข้าร่วมโครงการตามอายุของยางพาราเป็น 3 ระยะ ดังนี้

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ให้กับสมาชิกภายใต้โครงการฯ อีกด้วย ดังนี้

โครงการอบรมให้ความรู้ให้กับสมาชิกและผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ความปลอดภัยในการทำงาน แรงงานและสวัสดิการสังคม สิทธิมนุษยชน การคัดแยกและจัดการขยะ ชนิดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์หายาก การผลิตเชื้อราเขียว (ไตรโคเดอม่า) เพื่อใช้ควบคุมโรคและแมลงเพื่อลดการใช้สารเคมี เป็นต้น

โครงการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ (สำรวจพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์) ซึ่งมีพื้นที่ป่าชุมชนได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเข้าร่วมเป็นพื้นที่อนุรักษ์ของโครงการฯ แล้วจำนวน 4,586 ไร่ จากพื้นที่ป่าชุมชน 5 พื้นที่ ดังนี้

  • ป่าชุมชนบ้านทุ่งหัวเมือง จำนวน 965 ไร่
  • ป่าชุมชนบ้านต้นไทร จำนวน 1,033 ไร่
  • ป่าชุมชนบ้านช่องเขา จำนวน 395 ไร่
  • ป่าชุมชนบ้านป่าพงศ์ จำนวน 1,993 ไร่
  • พื้นที่ปกปักษ์พันธุกรรมเขาคอหงส์ จำนวน 200 ไร่
    ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว จะมีเจ้าหน้าที่ของโครงการฯและชุมชนเข้าไปช่วยติดตาม ดูแล และรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ

  • โครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้เป็นศูนย์ต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับสมาชิก/ชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิต/สังคม ปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้จำนวน 2 ศูนย์ คือ ศูนย์เรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะครัวเรือน ที่ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา โดยมีสมาชิกและชุมชนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 2 ศูนย์ ประมาณ 50 ครัวเรือน

    โครงการส่งเสริมและพัฒนามูลค่าของน้ำยางด้วยมาตรฐาน FSC เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพการทำสวนยางของสมาชิก โดยปัจจุบันสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมาชิกที่ขายน้ำยาง FSC จำนวน 1,520 ราย ให้ผลผลิตของยาง 3,662 ตันแห้ง คิดเป็นมูลค่าเพิ่มที่ 3,662,000 บาท ทำให้สมาชิกตระหนักและให้ความสำคัญในการพัฒนาอาชีพการทำสวนยางตามมาตรฐานสากล และเกิดความยั่งยืนกับระบบและวัตถุดิบของบริษัท

    นโยบายที่เกี่ยวข้อง

    นโยบายจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน