Mitr Phol Group Sustainability

Edit Template

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก : ผู้ถือหุ้น, เกษตรกร, ชุมชน, คู่ค้า, ลูกค้าและผู้บริโภค, พนักงาน, ภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคม

การดำเนินธุรกิจย่อมต้องมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย การให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าเป็นเรื่องที่กลุ่มมิตรผลตระหนักและให้ความสำคัญเสมอมา เนื่องจากภาคธุรกิจมีหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้เคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ผ่านการดำเนินธุรกิจที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ดังนั้นการสร้างความเข้าใจและความตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับบุคลากรมิตรผล จึงเป็นที่มิตรผลดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะเกิดการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

เป้าหมายและผลการดำเนินงานของปี 2566

เป้าหมาย
ผลการดำเนินงาน
การจัดการข้อร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชน
ร้อยละ 100
ร้อยละ 100

แนวทางการบริหารจัดการ

มิตรผลดำเนินงานสอดคล้องตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ และสอดคล้องกับหลักสากลอื่นๆ อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights; UDHR) ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact หรือ UNGC) รวมถึงหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(The International Labor Organization’s Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดให้มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน และพิจารณาทบทวนเป็นประจำทุกปี รวมถึงการจัดให้มีกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนแนวโน้มความเสี่ยงที่เป็นปัจจุบันที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมทางธุรกิจของมิตรผล คู่ค้า และผู้ร่วมธุรกิจตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของมิตรผลให้สอดคล้องตามกฎหมายและหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน

กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน

มิตรผลจัดทำกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ดังนี้ 

  1. คณะกรรมการบริษัทพิจารณาทบทวนนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน และประกาศให้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมกิจกรรมในการดำเนินธุรกิจของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัทย่อย รวมถึงการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (การควบรวม การเข้าซื้อกิจการ และกิจการร่วมค้า) ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายด้านสิทธิมนุษยชนสอดคล้องกับหลักปฏิบัติของบริษัทเป็นไปตามข้อบังคับและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสอดคล้องกับหลักสากลด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ
  2. ศึกษาและทบทวนประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนของมิตรผลในปี พ.ศ.2565 เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงและประเมินผลกระทบ โดยพิจารณาครอบคลุมถึงประเด็น การบังคับใช้แรงงาน การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก เสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง การกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การเลือกปฏิบัติ การคุกคาม และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท พนักงาน พนักงานของบริษัทที่เป็นบุคคลที่สาม และกลุ่มผู้เปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิง ผู้บกพร่องทางร่างกาย แรงงานต่างด้าว ชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
  3. ประเมินความเสี่ยงและจัดทำทะเบียนความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนทุก 3 ปี เพื่อให้ได้มาซึ่งประเด็นความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญที่มิตรผลจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบและป้องกันความเสี่ยงที่อาจขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจทั้ง 7 กลุ่มธุรกิจของมิตรผล ซึ่งครอบคลุมทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ และบริษัทย่อย รวมถึงการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (การควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ) คิดเป็น ร้อยละ 100 ของพื้นที่ปฏิบัติงานทั้งหมด ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การซ่อมบำรุง การก่อสร้าง การจัดเก็บ และการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ โดยจะดำเนินการตรวจสอบทั้งกิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุน
ขอบเขตการจัดทำการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน

ประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ (Salient Human Rights Issues)

ประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ มาตรการดำเนินการ 
ด้านแรงงาน 
1. ความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน  
  1. มีนโยบายความปลอดภัย เช่น มาตรฐานการปฏิบัติงาน การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ 
  2. มีการกำหนดกฎพิทักษ์ชีวิตตามความเสี่ยงของแต่ละกลุ่มธุรกิจ และการตรวจประเมินด้านความปลอดภัยทั่วทั้งองค์กร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมแต่ละโรงงานตามกรอบ SSHE framework 
  3. มีการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร 
  4. มีการฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และการทำงานในพื้นที่เสี่ยง ให้แก่พนักงาน ชาวไร่ และผู้รับเหมา 
  5. มีการจัดเตรียมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้กับพนักงานและกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ให้แก่ผู้รับเหมา 
  6. มีโครงการสังเกตพฤติกรรมความปลอดภัย (Behavior Base Safety) และการรายงานสภาพที่ไม่ปลอดภัยเพื่อแก้ไข 
  7. มีการลงทะเบียนหญิงตั้งครรภ์ เพื่อรับทราบจำนวนพนักงานตั้งครรภ์ในแต่ละปี และจัดให้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายขณะตั้งครรภ์มากยิ่งขึ้น 
  8. มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น กิจกรรม ลดพุง หุ่นสวย รวยสุขภาพ ฯลฯ 
  9. ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 45001: 2018 ระบบมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย 
2. เงื่อนไขของการจ้างแรงงานในห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ชัดเจน 
  1. มีคู่มือการปฎิบัติงานด้านทรัพยากรบุคคลและแรงงานจ้างเหมา 
  2. มีการลงนามในคู่มือจรรยาบรรณของพนักงานและคู่ค้า 
  3. มีกระบวนการในการประเมินและการสุ่มตรวจสอบการปฎิบัติงานของคู่ค้า 
  4. สื่อสารและสร้างการรับรู้เรื่องกฎหมายแรงงานและนโยบายสิทธิมนุยชนให้แก่คู่ค้า 
  5. มีกระบวนรับข้อร้องเรียนที่ชัดเจน 
3. การนำบุตรหลานเข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงาน 
  1. มีการจัดทำพื้นที่พักคอยที่ปลอดภัยสำหรับนั่งพักให้แก่ ชาวไร่ ผู้ติดตาม และผู้รับเหมา  
  2. มีระบบควบคุมและตรวจสอบการเข้า-ออกพื้นที่โรงงานในทุกธุรกิจ  
  3. มีกระบวนการให้ความรู้และทำความเข้าใจ รวมถึงมีกระบวนการสอบตรวจในพื้นที่ไร่อ้อย 
  4. มีศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่โรงงานน้ำตาลและพาเนลพลัส 
ด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม 
4. ความปลอดภัยและวิถีการดำรงชีวิตของคนในชุมชน 
  1. กระบวนการสำรวจพื้นที่ชุมชน และกระบวนรับข้อร้องเรียนที่ชัดเจน 
  2. กระบวนการไตรภาคีในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อหารือร่วมกันระหว่างโรงงาน  ชุมชน และหน่วยงานราชการ/เครือข่ายธรรมภิบาล 
  3. มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการสื่อสาร ดูแล และร่วมพัฒนาชุนชนอย่างยั่งยืน 
  4. จัดทำโครงการรับซื้อใบอ้อย เพื่อส่งเสริมการไม่เผาอ้อย และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่ 
  5. ตั้งเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero เพื่อแก้ปัญหา และลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
5. การจัดการของเสียและมลภาวะ 
  1. มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงนโยบายจ้างคู่ค้าที่ได้รับการอนุญาตนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงาน เพื่อนำไปกำจัดตามประเภทที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด และขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น 
  2. มีระบบการเฝ้าระวังและติดตามควบคุมผ่านตัวชี้วัดที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม 
  3. เริ่มทำการศึกษา โครงการพัฒนาระบบ AERMODEL & IoT sensors โดยนำเทคโนโลยีดิจิตอลมา บรูณะการเพื่อจัดทำโปรแกรมแบบจำลองในการพยากรณ์อากาศ และมลภาวะ เพื่อการส่งข้อมูล การแจ้งเตือน และสั่งการควบคุมอุปกรณ์ ในระบบการจัดการมลพิษของบริษัท 
  4. มีการใช้งานระบบ AERMODEL ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้พยากรณ์มลพิษอากาศ จากข้อมูลสถิติของอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลพิษทางอากาศจากปล่องระบาย เพื่อแสดงผลและใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในกลุ่มธุรกิจทดแทนไม้ 
  5. มีแผนการตรวจวัดค่าคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกโรงงานอย่างสม่ำเสมอ และมีแผนการดำเนินการติดตั้ง ระบบตรวจวัดมลพิษทางอากาศที่ปล่อยจากปล่องอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง CEMs (Continuous Emission Monitoring System) 
  6. มีการจัดทำโครงการ Waste to value เพื่อศึกษาและจัดการของเสียให้กลับมาใช้ประโยชน์อย่างมีคุณค่า เช่น โครงการนำขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้ามาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ 
  7. ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001:2015 ระบบจัดการสิ่งแวดล้อม 
6. การบริหารจัดการน้ำใช้ในการดำเนินธุรกิจ 
  1. จัดให้มีและปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่นและอากาศ และระบบบำบัดน้ำทิ้ง 
  2. โครงการ Zero discharge โดยมีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ในด้านเกษตรกรรมของกลุ่มมิตรผล 
สิทธิลูกค้าและผู้บริโภค 
7. สุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์น้ำตาล 
  1. ดูแล ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารตามมาตรฐานสากล ได้แก่ ISO9000 / ISO22000 / FSSC22000 / GMP & HACCP ตลอดห่วงโซ่อาหารและส่งมอบไปยังลูกค้าและผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่ออาหาร 
  2. ตรวจสอบสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ และควบคุมปริมาณการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและโลหะหนัก ให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด 
  3. ใช้เทคโนโลยีในการผลิตและบรรจุตามระบบพื้นฐานของโรงงานที่ผลิตอาหาร (GHP) และ ระบบมาตรฐานการรับรองความปลอดภัยสำหรับการผลิตอาหาร (FSSC 22000) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล 
  4. มีการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าและผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ และนำข้อเสนอแนะของลูกค้ามาปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สินค้าคุณภาพและบริการที่ดี สร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค 
  5. จัดให้มีกระบวนการและช่องทางสำหรับการรับข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะของลูกค้าที่เกี่ยวกับสินค้าหรือการบริการ เพื่อตอบสนองปัญหาและเพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว 

โดยจากการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทและกิจกรรมของห่วงโซ่อุปทานของบริษัท พบว่ามีพื้นที่ปฏิบัติงาน 12 แห่งจากทั้งหมด 43 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 27.91 ของพื้นที่ปฏิบัติงานทั้งหมด) เป็นพื้นที่ที่มีประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ โดยบริษัทได้ออกมาตรการควบคุมความเสี่ยงดังกล่าวฯ ครอบคลุมร้อยละ 100 ของพื้นที่ที่พบความเสี่ยงทั้งหมด 

ช่องทางการแจ้งเรื่องร้องเรียน

บริษัทกำหนดให้มีช่องทางการแจ้งเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเกิด โดยให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิของผู้ร้องเรียนและผู้แจ้งเบาแสเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจะดำเนินการตอบสนอง สืบสวนข้อเท็จจริง และจัดการข้อร้องเรียนอย่างโปร่งใส ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงสื่อสารความคืบหน้าแก่ผู้ร้องเรียนและผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องตลอดกระบวนการจัดการข้อร้องเรียนดังกล่าว และจะพิจารณาแนวทางการเยียวยาตามความเหมาะสมแก่ผู้ได้รับผลกระทบเป็นรายกรณี 

บริษัทได้กำหนดให้กรรมการบริษัท ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชา หน่วยงานธรรมาภิบาล กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสำนักงานตรวจสอบเป็นผู้รับแจ้งขอร้องเรียนด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อรวบรวมและแจ้งไปยังหน่วยงานธรรมาภิบาล ซึ่งผู้ส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกของบริษัทและบริษัทย่อย สามารถส่งข้อร้องเรียนโดยตรงผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

อีเมล

CG@mitrphol.com

เว็บไซต์บริษัท

www.mitrphol.com/whistleblowing

ไปรษณีย์

หน่วยงานธรรมาภิบาล บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (สำนักงานใหญ่) เลขที่ 2 อาคารเพลินจิตเซ็นเตอร์ ชั้น 3 ถนนสุขุมวิท คลองเตย กรุงเทพฯ 10110

ช่องทางอื่น

ร้องเรียนผ่านช่องทางอื่นใดที่เหมาะสมและสะดวกสำหรับผู้ร้องเรียน

การดูแลและเยียวยาผลกระทบ

เมื่อได้รับแจ้งการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน บริษัทจะดำเนินการตอบสนอง สืบสวนข้อเท็จจริง และจัดการข้อร้องเรียนอย่างโปร่งใส กรณีที่สืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่าการดำเนินงานของบริษัทก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน บริษัทจะพิจารณาแนวทางการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสมเป็นรายกรณีตามบริบทของเหตุการณ์ หรือกรณีการละเมิดที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งรายงานเหตุการณ์ต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง รวมถึงนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาใช้พัฒนามาตรการควบคุมให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยพนักงานผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงพฤติกรรมเลือกปฏิบัติหรือการล่วงละเมิด ถือเป็นการทำผิดจรรยาบรรณของบริษัท จะได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบบทลงโทษที่บริษัทกำหนดไว้ อาทิ การถูกคำสั่งพักงาน การหักค่าจ้าง การไล่ออก นอกจากนี้อาจได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดกฎหมายด้วย

รางวัลดีเด่นองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน

บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้รับรางวัลดีเด่นองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี พ.ศ.2566 ประเภทภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน