Mitr Phol Group Sustainability

Edit Template

ศูนย์… ที่ไม่ ศูนย์เปล่า

กลุ่มมิตรผล ขอเป็นหนึ่งแรงบันดาลใจ เชิญชวนทุกๆ คนร่วมกันพาโลกของเราก้าวสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ไปด้วยกัน
เพราะความยั่งยืนไม่ใช่ภารกิจของคนใดคนหนึ่ง แต่เราทุกคนต้องร่วมมือกันลงมือทำคนละนิด สู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่

ในการสร้างสังคมไร้คาร์บอน เพื่อวันข้างหน้าที่ไม่สูญเปล่า

ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในแวดวงเกษตรอุตสาหกรรมของประเทศไทยพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมนำพาประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เพื่อสร้างสังคมไร้คาร์บอนอย่างยั่งยืน ด้วยการต่อยอดแนวคิด “เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่า…ให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า” มุ่งเน้นพัฒนาแนวทางการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างรู้คุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนภาคเกษตรอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 สอดรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดผลกระทบของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างจริงจังร่วมกับนานาประเทศ ผ่านแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืนอย่างครอบคลุมในทุกองค์ประกอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่สั่งสมมากว่า 66 ปี ของการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง

Renewable Energy

ผู้ผลิตพลังงานทดแทนรายใหญ่ของประเทศไทย และใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต

การใช้ทรัพยากรเพื่อตอบสนองต่อการอุปโภคบริโภคและพัฒนาเศรษฐกิจของมนุษย์เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผนวกกับการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนประชากรโลกที่ส่งผลกระทบให้ทรัพยากรไม่สามารถฟื้นคืนได้รวดเร็วเมื่อเทียบกับความต้องการ กลุ่มมิตรผลจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการของเสียและหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ไม่ใช้แล้วจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนา ต่อยอดวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ให้สามารถนำกลับมาสร้างคุณค่าได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำชานอ้อย และใบอ้อย มายกระดับผ่านกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สู่เชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าชีวมวลเพื่อวนใช้ภายในโรงงานต่างๆ ของกลุ่มมิตรผล ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิล ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมจำหน่ายผลผลิตส่วนที่เหลือให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อส่งต่อไปยังชุมชน รวมไปถึงการนำกากน้ำตาลหรือโมลาส มาพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงและเกรดความบริสุทธิ์คุณภาพสูง เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบ และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจด้านพลังงานให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน

พัฒนาธุรกิจต่อยอดอ้อยและน้ำตาลสู่ธุรกิจ Bio-Circular-Green Economy Model (BCG Model)

ด้วยแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งมั่นเสริมสร้างให้ทุกชีวิตรอบข้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน พร้อมผลักดันให้ภาคเกษตรอุตสาหกรรมของประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคง กลุ่มมิตรผลจึงเดินหน้าพัฒนาต่อยอดสู่ธุรกิจ New S-Curve ซึ่งเป็นธุรกิจต่อเนื่องจากผลผลิตอ้อยและน้ำตาล ที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งกระบวนการผลิตแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยได้อย่างดี สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติของประเทศ ที่มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ(Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) อย่างครอบคลุม ได้แก่

  • Bioenergy ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวล และเอทานอลจากผลผลิตทางการเกษตร
  • Biochemical & Biomaterials ธุรกิจเม็ดพลาสติกชีวภาพที่สามารถสลายตัวได้ตามธรรมชาติ ทดแทนการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียม เพื่อนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารจากวัสดุชีวภาพได้หลากหลาย เช่น กล่องอาหาร ช้อนส้อมมีด ถ้วยไอศกรีม เป็นต้น
  • Food & feed additive ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากยีสต์ และ สารให้ความหวาน Sugar specialty – ไซลิทอล (Xylitol)
  • Cosmetics ธุรกิจเครื่องสำอาง และครีมบำรุงผิวจากวัสดุธรรมชาติ
  • Functional Ingredients ธุรกิจผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ต่อยอดจากอ้อยธรรมชาติสู่ฟรุคโต-โอลิโกแซคคาไรด์ (Fructo-Oligosaccharide) ใยอาหารธรรมชาติสำหรับใช้ในการประกอบอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน มีประโยชน์ต่อร่างกายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • Biopharma ธุรกิจยารักษาโรค และวัคซีน

Bio-Circular-Green Products​

Sustainable Modern Farming​

การทำเกษตรสมัยใหม่อย่างยั่งยืน

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม (Mitr Phol ModernFarm) เป็นหนึ่งในโมเดลการทำเกษตรไร่อ้อยสมัยใหม่อย่างยั่งยืน ที่กลุ่มมิตรผลมุ่งมั่นพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพิ่มคุณภาพของผลผลิต ตลอดจนลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนชาวไร่อ้อย ผ่านการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ พร้อมผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างชาวไร่ ชุมชน และภาครัฐ มุ่งหาแนวทางการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้เกิดการซื้อ-ขายอ้อยสดมากขึ้น เช่น จัดทำโครงการรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล เพื่อลดการเผาไร่อ้อย ช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร รวมถึงจัดทำโครงการแนวกันไฟ ลดอ้อยไฟไหม้อย่างมีส่วนร่วม ผ่านความร่วมมือของทุกหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ในการร่วมกันป้องกันและเฝ้าระวังไฟไหม้อ้อยเพื่อลดพื้นที่ความเสียหาย และเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย

นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ

กลุ่มมิตรผล ได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาใช้พัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำเสียด้วยระบบบำบัดน้ำเสียรวม (Activated Sludge Process; AS) ที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้กลุ่มมิตรผลสามารถนำน้ำหลังการบำบัดมาใช้เป็นน้ำต้นทุนหมุนเวียนในกระบวนการผลิตได้อีกครั้ง ซึ่งช่วยเพิ่มพื้นที่จัดเก็บน้ำดิบ ลดการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ลดค่าใช้จ่าย ทั้งยังลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากภัยแล้ง รวมถึงการบริหารจัดการปัญหาขยะภายในโรงงานต่างๆ และกำหนดแนวทางปฏิบัติให้แก่พนักงานเพื่อจัดการปัญหาขยะ ด้วยแนวทางในการจำแนกประเภทขยะ เพิ่มอัตราการนำไปรีไซเคิล ลดปริมาณขยะทั่วไปไปทิ้งที่หลุมฝังกลบ และสามารถนำขยะกลับมาใช้ซ้ำได้มากกว่า 35% เทียบกับปริมาณขยะทั้งหมดในโรงงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะแก่พนักงาน ทั้งการลดวัสดุที่ไม่ใช้ในชีวิตประจำวัน นำขยะหรือเศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Reuse) กลับมาใช้ให้คุ้มค่า และคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ลดการใช้พลาสติก บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง รณรงค์รับประทานอาหารไม่เหลือทิ้ง และหากเหลือให้นำเศษอาหารจากโรงอาหาร (Recycle) มาหมักร่วมกับโมลาสเพื่อเป็นหัวเชื้อ EM เป็นต้น

Advanced Technology for Environmental Protection

Reforestation​

ปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง

ภายใต้โครงการพลิกฟื้นผืนป่าสู่ธรรมชาติที่ยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล ซึ่งเป็นโครงการปลูกและฟื้นฟูป่าระยะยาวต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี ผ่านความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ องค์กร กรมป่าไม้ และชุมชนรอบโรงงาน เพื่อดูแลรักษาป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง และช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • ฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ป่าสงวนร่วมกับกรมป่าไม้
  • ฟื้นฟูป่าชุมชนร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และชุมชนโดยรอบ
  • ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ของกลุ่มมิตรผล โดยปลูกผสมผสานระหว่างต้นไม้ยืนต้นและไม้เชิงพาณิชย์
  • ปลูกต้นไม้ร่วมกับเกษตรกร โดยสนับสนุนต้นไม้ให้เกษตรกรนำไปปลูกในพื้นที่บริเวณหัวไร่ปลายนา ทั้งนี้ ปัจจุบันได้ริเริ่มดำเนินโครงการที่อุทยานมิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่อุทยานมิตรภูเวียง จังหวัดขอนแก่นแล้วจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ หน่วยงานราชการในจังหวัด มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เกษตรกรชาวไร่อ้อยซึ่งเป็นคู่ค้าของมิตรผล พนักงานกลุ่มมิตรผล และชุมชน

ชดเชย กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก

กลุ่มมิตรผลได้รับใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิตที่กลุ่มมิตรผลสั่งสมจากการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมา ภายใต้โครงการ “ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” หรือ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งพัฒนาขึ้นและได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิด การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วนของประเทศไทยโดยความสมัครใจ และกระตุ้นให้เกิดการตระหนักและมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านกระบวนการนำปริมาณการลด หรือการดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง ซึ่งเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ในโครงการ T-VER นี้ มาจำหน่ายในตลาดคาร์บอนให้กับองค์กรอื่นๆ ที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ด้วยตัวเอง นำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ โดยต้องเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจภายในประเทศไทยตามที่ TGO กำหนดไว้เท่านั้น ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2558 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 7 โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจาก TGO ในปัจจุบัน

Carbon offsetting, Capture, Utilization and Storage (CCUS)